ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ผู้ใช้แรงงานนอกระบบถือเป็นแรงงานหลักของประเทศ จากข้อมูลของสำนัก งานสถิติแห่งชาติ ปี 2554 พบว่า ในจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 39.3 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบถึง 24.6 ล้านคน นับเป็นสัดส่วนที่สูงมาก โดยแรงงานนอกระบบเหล่านี้ไม่มีสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าที่ควร

ศูนย์วิชาการแรงงานนอกระบบ คณะสาธารณ สุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดเสวนาสมัชชาแรงงานนอกระบบ "รวยกระจุก ทุกข์กระจาย VS สุขกระจาย รายได้เพิ่ม" ณ ศาลาว่าการกทม. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบในกทม. มุ่งเน้นไปที่กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า หาบเร่แผงลอย รถซาเล้ง รถจักรยานยนต์รับจ้าง และรถแท็กซี่

นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ กทม. เกริ่นก่อนเข้าสู่วงเสวนาว่า กทม. สำนักพัฒนาสังคม และสำนักอนามัย มีแนวคิดที่จะสร้างสวัสดิการต่างๆ ทั้งการทำบัตรประจำตัวของแต่ละอาชีพ การให้ความรู้เรื่องสุขภาพ พร้อมส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบมีความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดีขึ้น และอบรมภาษาอังกฤษให้กลุ่มรถแท็กซี่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.

ส่วน นายสุปรีดา อดุลยนนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า สสส.เริ่มทำโครงการพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบกทม. ทุกกลุ่มอาชีพ มาตั้งแต่ปี 2552 ควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้จากกระบวนการทำงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย นำผลการดำเนินงานมาเสนอและแลกเปลี่ยน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ให้ขยายครอบคลุมทุกเขตทุกพื้นที่ ให้มีสุขภาพดี มีความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมต่อการทำงาน เชื่อมโยงกับสวัสดิการที่เหมาะสม

ขณะที่ นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์แรงงานนอกระบบ เรียกร้องว่า อยากให้สนับสนุนและส่งเสริมการบริการด้านสุขภาพ ความปลอดภัยและชีวอนามัยในการทำงาน จึงเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นกทม. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดอาชีพเพื่อการเข้าถึงงานและมีรายได้สม่ำเสมอ โดยพิจารณาตามบริบทอาชีพ

เสียงสะท้อนจากแรงงานนอกระบบ นางทองล้วน น้อมบุตร สมาชิกกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า เขตหนองจอก อยากให้พัฒนาหลักสูตรกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อเพิ่มทักษะฝีมือ จัดกลุ่มกองทุนสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์ใช้งานหรือยามเจ็บป่วย รวมถึงอยากให้หน่วยงานสาธารณสุขเข้ามาตรวจสุขภาพที่เกิดจากฝุ่นผ้า หรืออุบัติเหตุจากการทำงาน

นอกจากนี้ อยากให้มีบริการรถสาธารณะสำหรับกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชนที่ได้รับการรับรองจากศูนย์ฝึกอาชีพ อย่างน้อยร้อยละ 30 ของปริมาณงาน จัดซื้อจัดจ้างชุดนักเรียน ชุดพนักงานรักษาความสะอาดและพนักงาน และต้องการให้ดูแลเรื่องการลงทะเบียนเย็บผ้าให้มีมาตรฐานน่าเชื่อถือ แต่ยังไม่รู้ว่าข้อเสนอนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่

นางสุจิณณา กวยสกุล นักวิชาการแรงงานชำนาญการกองทุนส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ให้ข้อมูลว่า มีกองทุนกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า วงเงิน 30 ล้าน บาท ผู้ที่จดทะเบียนกับองค์การจัดหางานแล้ว กู้ยืมเงินเพื่อใช้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดยมีอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี

ส่วนกรมการจัด หางานได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู กับโรงเรียนในสังกัดกทม. เพื่อรับตัดเย็บเสื้อผ้านักเรียน บนฐานความพร้อม และศักยภาพในการผลิต ของกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าเขตหนองจอก โดยมีโรงเรียนตัว อย่างนำร่อง ก่อนขยายการจ้างงานไปสู่โรงเรียนอื่นต่อไป

นอกจากปัญหาจะเกิดกับกลุ่มประ กอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าแล้ว กลุ่มคนขับแท็กซี่ก็ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน เนื่องจากถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในข้ามคืน เพียงเพราะการกระทำจากผู้ไม่หวังดี แอบใช้อาชีพบังหน้าหากิน ทำให้เกิดความไว้วางใจน้อยลง

"รถแท็กซี่เป็นรถโดยสารเหมือนกัน แต่ต้องเสียค่าปรับให้กับตำรวจจราจร เพราะวิ่งในเลนของรถโดยสารประจำทาง หรือบางครั้งที่ต้องรับส่งผู้โดยสาร กลับไม่มีพื้นที่ให้แท็กซี่จอดรอ บางครั้งเมื่อเจ็บป่วยกลับไม่มีกองทุนอาชีพในการใช้จ่ายค่ารักษา" นางสุจิณณากล่าว

ปิดท้ายที่ นายสำเร็จ มูระคา รองประธานกลุ่มแท็กซี่อาสาแรงงานนอกระบบ ระบุว่า อยากให้มีการจัดขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันมิจฉาชีพแอบแฝง และจัดสอนภาษาอังกฤษกับกลุ่มแท็กซี่ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

"หวังว่าเสียงที่สะท้อนเหล่านี้จะนำมาสู่การดูแลแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมได้"

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod

เรื่องที่เกี่ยวข้อง