ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สธ. เผย คนไทยป่วยทางจิตเข้ารับการบำบัดใน รพ.กว่า 3 ล้านราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เหตุสภาพสังคมไทยเปลี่ยนจากชนบทเป็นเขตเมือง ห่วงผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เร่งขยายบริการครอบคลุมพื้นที่

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังรับมอบที่ดินบริจาคจากนายบุญ ชาติพาณิชย์ จำนวน 47 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก ว่า จากการสำรวจปัญหาด้านสุขภาพจิตล่าสุดของกรมสุขภาพจิต พบประชากรไทยร้อยละ 20 หรือประมาณ 1 ใน 5 มีปัญหาสุขภาพจิต และมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวช 10 โรค เช่น โรคจิต โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคลมชัก ขึ้นทะเบียนรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศในปี 2554 รวมกว่า 3 ล้านราย ประมาณ 1 ใน 3 รักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช 17 แห่งทั่วประเทศกว่า 1.09 ล้านราย ซึ่งจำนวนป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2570 สังคมไทยจะเปลี่ยนเป็นสภาพสังคมเมืองมากขึ้น พื้นที่ที่เป็นเขตปริมณฑลจะเป็นเขตเมืองอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น เพราะสภาพความเป็นเมืองจะทำให้สังคมเปราะบางขึ้น เป็นสังคมต่างคนต่างอยู่ โดยภาคตะวันออกจะเป็นเขตเมืองมากกว่าภาคอื่นๆ ครอบครัวจะลดขนาดจากครอบครัวขยายมีพ่อแม่ลูก ตายาย เหลือเป็นครอบครัวเดี่ยว มีพ่อแม่ลูก และหัวหน้าครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง โรคที่องค์การอนามัยโลกกำลังวิตกและมีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลกก็คือโรคซึมเศร้าจะมีความรุนแรง ขยับจากอันดับที่ 4 ในปี 2533 ขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข จะเป็นสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตาย

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ในแผนพัฒนาบริการด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนพ.ศ. 2556-2559 กระทรวงสาธารณสุขจะขยายบริการส่งเสริมสุขภาพจิตแก่ประชาชนทุกกลุ่ม เช่นเด็ก สตรี วัยรุ่น ผู้สูงอายุ ถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตั้งเป้าพัฒนาเมื่อสิ้นปี 2559 ประชาชนไทยทุกวัยร้อยละ 70 จะมีสุขภาพจิตดี เด็กไทยร้อยละ 70 มีระดับความฉลาดทางสมองและความฉลาดทางอารมณ์ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล และอัตราฆ่าตัวตายไม่เกินแสนละ 6.5 คน ผู้ป่วยโรคจิตต้องเข้าถึงการรักษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80