ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เราเข้าใจได้ว่ามนุษย์เกิดมาย่อมเจ็บป่วยเป็นของธรรมดา รัฐจึงมีหน้าที่แบกรับภาระนั้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะรัฐคือผู้ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงถูกตั้งมาเพื่อภารกิจนั้นโดยตรง...ความคิดนี้ถูกริเริ่มมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อยมาจนได้สถาปนาขึ้นมาเป็นกระทรวงสาธารณสุขในปีพุทธศักราช 2485 ก็ได้ให้คุณูปการแก่ปวงชนชาวไทยกันทั่วหน้ามาตั้งแต่บัดนั้น... วิทยา บุรณศิริ เป็นผู้แทนมาหลายสมัย สุดท้ายก็ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องราวชีวิตที่มาที่ไปโดยสังเขปของท่านรัฐมนตรี ...ขอเชิญรับทราบครับ

ชีวิตของเขาเป็นคนชนบทอยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมดังที่เราทราบๆกัน มีวิบากกรรมต้องพายเรือไปขึ้นรถไฟไปโรงเรียน ขากลับถ้ารถไฟตกราง (หัวเราะ) ก็ต้องเดินกลับบ้าน"คนอยุธยาอยู่กับน้ำ ถือเป็นเรื่องปกติ นั่งไปโรงเรียนที่กรุงเทพฯวันละ 2 ชั่วโมง ตื่นตี 4 ไปขึ้นรถตี 5 ผมเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนปานะพันธุ์ จบแล้วก็ไปเรียนรามฯ เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ช่วยเหลือตัวเองจะได้ไม่เป็นภาระกับครอบครัวมาก ว่างั้นเถอะ ผมไปทำงานเหมืองแร่ดีบุกที่ภาคใต้ พออายุ 19 ก็ลองไปเหมืองแร่ในทะเล เป็นลูกจ้างรายได้ดีมากประมาณว่าหลักแสน ทำได้ราวๆ 2-3 ปี ก็ออกเดินทางไปทั่วประเทศ ไม่ค่อยได้กลับบ้าน พกเงินติดตัวไปราว 5 หมื่น (หัวเราะ) ยังไม่รู้จะทำอะไรดี จนมาเลือกเอาการลงทุนทางขนส่ง ส่วนใหญ่เป็นปูนซีเมนต์ พวกพืชไร่ ตอนนั้นอายุประมาณ 22-23 ก็เริ่มมีงานก่อสร้างเข้ามาด้วย ผมเป็นคนชอบบุกเบิก ชอบภูเขา ระหว่างนั้นจะมีเสียงใสๆของนกเป็น back ground  เป็นระยะ"

ตอนอายุซัก 25 คุณวิทยาก็หักเหชีวิตไปเล่นการเมือง สมัยนั้นเขาบอกกันว่าเป็นนักการเมืองด้วยคนถึงจะสามารถรับงานรัฐ โดยไม่มีใครมารังแก จริงไม่จริงไม่ทราบ วิทยาเล่นการเมืองท้องถิ่นถึง 16-17 ปี จึงลาออกมาสมัคร ส.ส. จากนั้นก็ได้รับการชักชวนจาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาในพรรคไทยรักไทย

เมื่อ BMG ถามถึงชีวิตส่วนตัว

"เวลา relax  ผมปลูกต้นไม้ ชอบทำอาหาร ขับรถแข่ง ขับเรือ เป็นคนที่รักความเร็วในสนามแข่งนะ ไม่ใช่ในถนน (หัวเราะ) เคยถูกชวนไปแข่งต่างประเทศ แต่ไม่ไหวต้องซ้อมกันเป็นเดือน เราเป็นนักการเมืองต้องอยู่กับชาวบ้านมันไปไม่ได้" (หัวเราะ)หลังจากนั้นแล้วพออายุได้ 38-40 เข้าก็หยุดขับรถ โดยเฉพาะตอนหลังได้รับเชิญจากนายกฯยิ่งลักษณ์ให้มาร่วม ครม.

วิทยาเป็นคนชอบทำอาหารมาก เขาถือว่าเป็นความสุขในชีวิตทีเดียวเชียวแหละ

"อาหารต่างๆเราก็ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นไปชนบทมีผักมีปลาไก่ทำแกงส้มทำได้หมด คุณแม่สอนไว้ให้แล้ว" (ยิ้มอย่างมีสุข)ไหนๆก็มาสัมภาษณ์ รมว.สาธารณสุขแล้ว BMG ก็ถือโอกาสถามถึงเรื่องสุขภาพหน่อย ท่าน รมต.ก็ตอบแบบภาพรวม

"คือในอดีตนี่นะมีเรือให้ใช้ น้ำใสปลาเต็มไปหมด แต่ปัจจุบันคลองถูกทำเป็นถนน เมื่อก่อนไม่มีอะไรกั้นกันหรอก น้ำใสประเภทดื่มได้ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ปลาเยอะแยะไปหมด แต่ปัจจุบันมันก็ดีไปอีกแบบนึงนะ มันก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย ทำให้นโยบายอยู่กับคนไทยอยู่กับประเทศไทย แต่ดูจากงบแล้วก็น่าห่วง เพราะแนวโน้มคนไทยจะป่วยมากขึ้นๆ ค่ารักษาพยาบาลจะสูงขึ้นๆ ท่านนายกฯให้นโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้มา ผมก็เลยมาเน้นที่ต้นเหตุมันคืออะไร จริงๆมันอาจจะมาจากการบริโภค ก็เน้นให้ประชาชนไปพิจารณาในเรื่องนี้"

ท่านรัฐมนตรียังเน้นอีกว่าคนไทยเป็นเบาหวานและความดันกันมาก หน้าทุเรียน หน้าลำไยก็ทานกันมาก การทานอาหารแต่ละมื้อแต่ละคำ อย่าให้มันหยิบยื่นความตายให้แก่เรา วิเคราะห์ด้วยตัวเอง ผักคะน้าและพริกที่ประชาชนชอบรับประทานมีสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน เป็นที่มาของการเจ็บป่วย เป็นเหตุของมะเร็งบ้างเบาหวานบ้าง ต้องทานยายาวนานกันทีเดียว

"คนต้องไปหาหมอประจำ มันก็ต้องใช้งบมาก เราจึงเน้นการป้องกัน เน้นการบริโภคที่ถูกสุขอนามัย การออกกำลังกาย แม้กระทั่งนั่งแท็กซี่ เราก็อาจติดเชื้อโดยไม่คาดหมาย ผมได้คิดโครงการเอาไข่แลกยา คือยามันเยอะ ซึ่งคือเงินทั้งนั้น เป็นภาษีของประชาชนทั้งนั้น ในฐานะรัฐมนตรีไม่ใช่เอาแต่ใช้ภาษีราษฎรสุรุ่ยสุร่าย แต่เราต้องใช้แบบมีคุณค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ตามนโยบายของนายกฯยิ่งลักษณ์ยาทุกอย่างเราก็พยายามต่อรอง ยาโรคมะเร็งแต่ก่อนเป็นหมื่น เดี๋ยวนี้เหลือ 30 บาท ก็มีคณะกรรมการยาเขาช่วยดูแลอยู่ เป็น รมต.ก็ต้องช่วยให้ประชาชนคิดให้เขาเข้าใจ ทำให้คนป่วยน้อยลง เข้าใจการดูแลตัวเอง ไม่งั้นแล้วผมต้องสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม เพิ่มเตียงคนไข้ ผมไม่ต้องการเพิ่มโรงพยาบาลแต่อยากให้คนไทยแข็งแรง นั่นแหละคือเป้าหมาย หมอจะได้ไปทำอะไรอย่างอื่นมากขึ้น ไปดูโรคใหม่ๆทุกๆอย่างจะได้พัฒนาไปในทางที่สูงขึ้นทางสุขภาพ

ต่อคำถามเรื่อง AEC เกี่ยวกับสุขภาพ รัฐมนตรีตอบว่าคุณภาพและมาตรฐานของไทยนั้นมีหลายด้าน เรื่องตับ ไตและอื่นๆประเทศไทยได้รับความเชื่อถือมาก แถมเรายังมีแพทย์แผนไทย เป็นทางเลือกอีกด้วย ต่อยอดให้คนมีงานทำ ผู้ช่วยพยาบาลอาจมีงานเพิ่มไปช่วยผู้สูงอายุ ส่งเสริมทัวร์มารักษาสุขภาพ ทำผิวเสริมความงามอะไรเยอะแยะถ้ารัฐบาลช่วยขับเคลื่อน มันจะเดินไปด้วยดี ตอนนี้พม่าลาวเขมรก็ข้ามเข้ามารักษาในบ้านเรา ตะวันออกกลาง ยุโรปเขาก็มา เรื่องนี้มันต้องมีแผนมียุทธศาสตร์แบบบูรณาการ ให้บริการแขกแบบ one stop service ครบวงจร แล้วนักท่องเที่ยวเหล่านั้นจะอยู่ใช้บริการอย่างประทับใจ

ท่านรัฐมนตรีฝากข้อคิดลึกๆไว้ว่า "แต่ละคำแต่ละมื้อ ก๋วยเตี๋ยวแต่ละชาม ข้าวแกงจานนี้ มันจะปลอดภัยกับเราหรือเปล่า ถามตัวเองว่าสะอาดมั้ย เรากำลังกินอะไร ทำไมคนไทยกินผักน้อย เด็กๆกินผักน้อย ผมก็เอาข้อมูลพวกนี้แล้วไปวางแผนจัดการต่อ"

"บอกซะก่อนนะครับ (หัวเราะ) ผมไม่ใช่หมอ เป็นแค่นักบริหารและจัดการเท่านั้น เอาเข้าทิศทางและนำไปสู่เข้าหมายได้"

เมื่อ BMG เสนอคำถามเรื่องผู้สูงอายุซึ่งนับวันจะมากขึ้น รัฐมนตรีก็เล่าให้ฟังถึงการช่วยและบริการไว้ว่า

"ตอนนี้มีการประสานไปยังปัมน้ำมันและกรมพลังงานให้ช่วยกันว่าให้มีโถนั่งห้อยขา คงนึกออกนะครับ ผมให้ CSR และหน่วยงานที่มีให้ช่วยกัน กระทรวงก็ช่วยร่วมกับกรมอนามัย ไอเดียผมอยากให้ผู้สูงอายุไปปัม ไปที่สาธารณะ ก็ดี โธ่...เดี๋ยวนี้คนอายุ 70 พระภิกษุสงฆ์ คนพิการ ร.พ.เขายังจัดที่ไว้ให้เลย"

รัฐมนตรียังได้ไปยุ่งกับน้ำถึง 4 เดือน เพราะต้องดูแลสุขอนามัยของประชาชน (...โหภารกิจเยอะจริง เป็นรัฐมนตรีไม่ใช่ง่ายจริงๆ ครับท่านผู้ชม) ส่วนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคก็ยังเดินหน้าอยู่

"แต่สำหรับคนเจ็บป่วยที่เอาเงินไปซื้อเหล้า เราก็กำลังถกแถลงกันอยู่ มีเงินซื้อเหล้าซื้อเบียร์ซื้อบุหรี่ แล้วไปเกิดอุบัติเหตุ ก็เป็นที่มาของการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ เพราะเสียใจว่าคนที่เสียภาษีให้กับระบบอะไรทั้งหลาย จ่ายภาษีแล้วเอาไปใช้ทำอะไร? นโยบายของผมคือประโยชน์สูงสุดของงบประมาณและต้องประหยัดด้วย

ท่าน รมต.กล่าวตบท้ายก่อนจะยุติการสนทนากับ BMG แบบสบายๆ

"ผมได้คิดโครงการเอาไข่แลกยา คือยามันเยอะ ซึ่งคือเงินทั้งนั้น เป็นภาษีของประชาชนทั้งนั้น ในฐานะรัฐมนตรีไม่ใช่เอาแต่ใช้ภาษีราษฎรสุรุ่ยสุร่าย แต่เราต้องใช้แบบมีคุณค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ตามนโยบายของนายกฯยิ่งลักษณ์"

ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 23 - 26 ก.ย. 2555