ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คลังกางแผนทำงบฯสมดุลปี'60 "สรรพากร" เร่งเพิ่มรายได้ ปฏิรูปภาษีบุคคลธรรมดา คุมรายจ่ายประจำทั้งเงินเดือนขรก.-ค่ารักษาพยาบาล ชง ครม. แก้ปมภาระบำนาญกว่า 8% ของงบฯ รายจ่าย ขณะที่จัดเก็บรายได้ 11 เดือน ต่ำกว่าเป้าเกือบ 2 หมื่น ล. แจงน้ำท่วม-ส่งออกฉุดกำไรร่วง

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์กระทรวงการคลัง เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังนั้น ได้กำหนดแนวทางการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย เพื่อลดการขาดดุล  พร้อมกับงบฯลงทุนที่ต้องเหมาะสม  ซึ่งต้องมีการบริหารการจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภาระจะอยู่ที่กรมสรรพากรเป็นหลัก ที่ต้องมีการลงทุนปรับปรุงระบบไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยตรวจสอบการเสียภาษีทั้งระบบ ขณะเดียวกันก็จะมีแผนการปฏิรูปภาษีบุคคลธรรมดาให้ทันสมัย

พร้อมกับการบริหารรายจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมบัญชีกลางจะต้องดูภาพระยะยาวว่า งบฯประจำประเภทเงินเดือน ค่ารักษาพยาบาล และบำนาญต่าง ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายการบริหาร โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านบำนาญ ซึ่งจากที่ประเมินภาระตลอดช่วง 25 ปีข้างหน้า พบว่า จะไปมีภาระสูงสุดประมาณช่วงปี 2578-2579 อยู่ที่ระดับประมาณ 7.9 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท

"ช่วงที่น่าห่วงไม่ใช่ช่วงที่สูงสุด แต่เป็นช่วงที่ไต่ระดับขึ้นไป ดังนั้นสิ่งที่จะได้เห็นในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือการบริหารจัดการเรื่องภาระบำนาญ จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้ ให้มีการบริหารจัดการตรงนี้ เพราะทุกวันนี้ภาระบำนาญมีประมาณ 8% ของรายจ่าย ถ้าไม่จัดการจะขึ้นไปถึง 10%" นายอารีพงศ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการบริหารรายจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งไม่ได้พูดถึงเฉพาะข้าราชการ แต่หมายถึงประชากรทั้ง 65 ล้านคน เพราะรัฐต้องอุดหนุนงบประมาณ ทั้งในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทรักษาทุกโรค) รวมปีละ 2 แสนล้านบาท

โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสั่งให้บูรณาการทั้ง 3 กองทุน ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณลงได้

ทั้งนี้สำหรับการออกพระราชบัญญัติกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกกว่า 2 ล้านล้านบาท จะอยู่ภายใต้กรอบหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 60% ของจีดีพี ซึ่งดูตัวเลขแล้วจะอยู่ที่ระดับ 50% ต่อจีดีพี จากปัจจุบันที่อยู่ที่ประมาณ 40%  และหากคิดเฉพาะที่เป็นภาระของคลังก็มีแค่ 30%

นายอารีพงศ์กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำ จะเน้นช่วยเหลือ ผู้ที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ประชาชนระดับฐานราก คือ ผู้มีรายได้น้อย ทั้งพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร ลูกจ้างนอกระบบประกันสังคม และ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยจะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนกลุ่มนี้มีการดูแลสวัสดิการพื้นฐานตั้งแต่เด็กไปจนวัยชรา (social safety net) ทั้งด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การดูแลกรณีตกงาน ไปจนถึงการจ่ายเบี้ยคนชรา เป็นต้น

"แผนพัฒนารากหญ้าให้แข็งแกร่ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จะมีบทบาทตรงนี้ ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะทำแผนออกมา" นายอารีพงศ์กล่าว

ส่วนยุทธศาสตร์การสนับสนุนศักยภาพและเพิ่มความสามารถการแข่งขันนั้น นายอารีพงศ์กล่าวว่า  จะมุ่งเน้นการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธุรกิจ การพัฒนาภาคเอกชนให้เกิดการสร้างมูลค่า เชื่อมโยงธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน  รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบ ระบบภาษีอากรต่าง ๆ ให้เอื้อกับการทำธุรกิจมากขึ้น

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ประกาศในการแถลงนโยบายของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ว่า จะดำเนินนโยบายที่มุ่งสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในปีงบประมาณ 2560 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะทยอยลดการขาดดุลงบประมาณไปเรื่อย ๆ โดยปีงบประมาณ 2556 ขาดดุล 3 แสนล้านบาท  ปีงบประมาณ 2557 ขาดดุล 2.25 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 ขาดดุล 1.5 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 ขาดดุล 7.5 หมื่นล้านบาท และเข้าสู่งบฯสมดุลในปีงบประมาณ 2560

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้เดือนสิงหาคม 2555 อยู่ที่ 300,116 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 32,323 ล้านบาท  หรือร้อยละ 9.7 โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลในเดือนนี้ต่ำกว่าประมาณการ 37,487 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.1 ผลจากเหตุการณ์อุทกภัยช่วงปลายปีที่ผ่านมา และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการ ส่งออกได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซน  รวมทั้ง ผลจากการให้สิทธิประโยชน์ภาษีของ บีโอไอ เรื่องการลงทุนสีเขียว

รวมทั้งผลกระทบจากมาตรการเพิ่มขีดความสามารถเอกชนไทยผ่านการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และผลกระทบจากมาตรการช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนผ่านการชะลอการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ได้ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ผ่านมาในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 ต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้ กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2555 นี้ จะใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

โดยช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,858,773 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 19,837 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1

นายอารีพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้การเก็บรายได้รวมจะต่ำกว่าเป้า 1 หมื่นล้านบาท และภาษีนิติบุคคลต่ำกว่าเป้ามากถึง 5.6 หมื่นล้านบาทนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการที่คลังตั้งเป้าหมายจัดทำยุทธศาสตร์งบฯสมดุลในปี 2560 เพราะยังเชื่อมั่นว่าในปีงบประมาณนี้ จะจัดเก็บได้ใกล้เคียงเป้าหมาย 1.98 ล้านล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าเพียงเล็กน้อย

เพราะสาเหตุที่รายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนใหญ่มาจากผลกระทบน้ำท่วม ไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจ และเฉพาะในส่วนภาษีนิติบุคคล  ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เก็บได้สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ และรายได้รัฐอื่น ๆ ดีหมด ดังนั้นเป็นเรื่องเฉพาะจุด ปีงบประมาณ 2556 ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปรับลดเป้า เพราะกรมสรรพากรเองก็จะต้องจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการลงทุนระบบตรวจสอบใบกำกับภาษีไม่ให้เกิดการรั่วไหล

ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 - 26 ก.ย. 2555--