ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หวั่นโรงพยาบาลแบกรับภาระค่าใช้จ่ายหลังหักอนุกมธ.ศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินการ 3 กองทุนสุขภาพส.ว. บอกอาจเกิดวิกฤติในระบบการรักษาพยาบาล เหตุรัฐตัดงบควบคุมค่าใช้จ่ายกระทรวงสาธารณสุข แนะแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากเงินบำรุง แก้ปัญหาระยะยาว

นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินการของ3 กองทุนสุขภาพในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับนโยบายของรัฐที่ต้องการจะควบคุมค่าใช้จ่ายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ที่จะต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี โดยการควบคุมสวัสดิการการรักษาพยาบาลการจัดซื้อยารวมลดกองทุนประกันภัยที่ 3 และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นต้น โดยเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการให้บริการกับประชาชน และการปิดตัวลงของโรงพยาบาลต่างๆ

ทั้งนี้ รัฐบาลมองว่าสถานการณ์ตัวเลขเงินนอกงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มดีขึ้น ในปี2555 จึงตั้งเงินงบประมาณปี2556 จาก 12,000 ล้านบาท เหลือ9,000 ล้านบาท  แต่ข้อมูลไตรมาส 3 ของปี 2555 กลับพบว่ามีโรงพยาบาลที่ขาดทุนประมาณ 125 แห่ง และมีแนวโน้มที่จะขยับเพิ่มขึ้นในไตรมาส4 ของปีนี้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดเล็ก อาจถึงขั้นต้องปิดตัวลงเนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆไม่ไหว ซึ่งผลจากการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ นับตั้งแต่ปี2551 ชี้ให้เห็นว่าโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกำลังประสบภาวะขาดทุน และขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง

นับตั้งแต่ปี2545 ที่มีการใช้นโยบาย30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนมารักษาในระบบจำนวนมาก วันนี้รัฐให้นโยบายใหม่ซึ่งทุกกระทรวงมีงานเพิ่ม การควบคุมงบประมาณจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงพยาบาลต่างๆอย่างมากเมื่อการจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลต่างๆไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยาบาลไม่มีงบประมาณในส่วนบริหารจัดการโดยเฉพาะในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขส่งผลให้โรงพยาบาลต้องนำเงินบำรุงมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่บุคลากรและลูกจ้างชั่วคราวทำให้เงินบำรุงโรงพยาบาลลดลงมาโดยตลอด

นายเจตน์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากจะไม่เป็นธรรมเพราะปฏิบัติต่างกับกระทรวงอื่นๆที่มีการแยกเงินเดือนบุคลากรออกมาอย่างชัดเจนแล้ว ส่งผลทำให้ไม่ทราบตัวเลขงบประมาณที่แท้จริงที่จัดสรรให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขว่าควรเป็นจำนวนเท่าใด

"เรื่องของข้าราชการที่มีทั้งหมด107,000 คน มีพยาบาลที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวอีกประมาณ 14,000 คน ซึ่งเป็นภาระของเงินบำรุง เพราะต้องใช้เงินไปจ้างให้ทำงาน ถ้ารัฐรับเรื่องนี้เข้าไปก็จะช่วยได้ในเรื่องของเงินเดือน โรงพยาบาลต่างๆก็จะรับภาระเรื่องเงินเดือนลดน้อยลง"

จากการศึกษาของคณะอนุกมธ. การศึกษาฯพบว่าที่ผ่านมารายได้จากสวัสดิการข้าราชการ ถือเป็นรายได้ก้อนใหญ่ของโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยก่อนหน้านี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะใช้รายได้ส่วนนี้มาช่วยแบกรักภาระต้นทุนจากค่าใช้จ่ายรายหัวมาตั้งแต่ปี 2545 แต่เมื่อรัฐใช้นโยบายควบคุมในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มข้น ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากสวัสดิการข้าราชการ

ผลการศึกษาพบว่าที่น่าเป็นห่วงคือปี 2556 เงินงบประมาณจะมาในไตรมาสแรก เมื่อมาแล้วงบก้อนหลังๆก็จะลดสัดส่วนลงไป ก่อนจะมาเติมในช่วงหลังเพื่อจะทำให้สภาพคล่องเกิดขึ้นในระบบ แต่เราเห็นว่าถ้าได้งบเท่าเดิม แต่ต้นทุนของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกเรื่อง ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร เงินเฟ้อ ค่ายา รวมทั้งการจ่ายเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น 3% จากเดิมที่หัก60% แต่เงินเดือนปี2556 เหลือ57% จึงห่วงว่าในปี 2556 จะได้รับผลกระทบ" นายเจตน์ กล่าวและว่า

อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ เนื่องจากในส่วนของงบกลางที่มีอยู่ประมาณ70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอำนาจของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจในการอนุมัติได้นั้น หากเกิดวิกฤติหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะใช้ส่วนนี้เข้ามาเติมในระบบเพื่อเสริมสภาพคล่องได้

"ที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอแนะหลายวิธีเพื่อเป็นทางเลือกและแก้ไขปัญหาระยะยาว แต่ก็ยังไม่มีการตอบรับซึ่งถ้าวิกฤติเกิดขึ้น มันจะไม่ใช่จังหวัดเดียว มันจะขยายเป็นวงกว้างผมคาดว่าในปี 2556 จะเริ่มเห็น เนื่องจากเป็นการตัดเงินเดือนแล้วการที่รัฐจะเอาเงินงบกลางมาช่วยอย่างนี้รับรองไม่ทันการลดรายได้จากสวัสดิการข้าราชการจะเป็นวิกฤติที่จะซ้ำเติมลงไปอีก" นายเจตน์กล่าวย้ำ

ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. 2555