ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หากติดตามข่าวการบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชน ประเด็นหนึ่งที่ถูกจับตามอง คือ จะทำอย่างไรหากผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการบริการ จะช่วยเหลือเบื้องต้นหรือไม่ ซึ่งกรณีของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ย่อมอยู่ในเงื่อนไขการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

หนำซ้ำล่าสุดมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ยังเตรียมขยายเพดานวงเงินเพิ่มจากเดิมกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพอย่างถาวรไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 400,000 บาท กรณีพิการจาก 120,000 บาท เป็น 240,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ขณะที่แพทยสภามีข้อเสนอให้บอร์ด สปสช.ขยายครอบคลุมกรณีดังกล่าวไปยังสิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการบูรณาการการบริการสุขภาพให้ประชาชนทุกสิทธิอย่างเสมอภาค ทว่าการประชุมคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและการคุ้มครองสิทธิ บอร์ด สปสช. ที่มี นางสุนทรี เซ่งกี่ เป็นประธาน กลับสวนกระแส เนื่องด้วยการหารือร่วมทั้ง 3 กองทุนที่ผ่านมา เห็นว่ากรณีดังกล่าวทำได้เพียงสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะมีกฎหมายกำหนด แต่อีก 2 สิทธิ ยังไม่มี หากทำจะต้องแก้กฎหมาย กลายเป็นว่าการขยายสิทธิตกไปก่อน ส่วนการขยายเพดานวงเงินที่ก่อนหน้านี้ บอร์ด สปสช.มีมติไปแล้วนั้น ก็อาจมีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากแว่วว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือทักท้วงมติดังกล่าวเพราะเกรงว่าจะเป็นภาระทางการเงิน

ปัญหานี้...นำไปสู่การเรียกประชุมบอร์ด สปสช. ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งมีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เพื่อหารือในประเด็นการพิจารณาการตรวจสอบการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการตามมาตรา 41 ของ สตง.

เรื่องนี้ "นพ.วินัย สวัสดิวร" เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตอบเพียงว่า ไม่อยากพูดมากว่า สตง.มีอำนาจทักท้วงหรือไม่ หรือมติบอร์ดจะเป็นโมฆะหรือไม่อย่างไร ขอให้รอผลการประชุมก่อน อย่างไรก็ตาม โดยปกติ สปสช.จะกันเงินส่วนนี้ไม่ถึงร้อยละ 1 อย่างในปีงบประมาณ 2556 กันเงินไว้ 250 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น ซึ่งภาพรวมมีผู้ป่วยใช้เงินส่วนนี้ในปี 2554 จำนวน 783 ราย เป็นเงิน 92.21 ล้านบาท

แต่ "ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์" นายกแพทยสภา เห็นว่า สตง.ทักท้วงจากความเป็นห่วงมากกว่า เพราะเรื่องนี้เป็นอำนาจของบอร์ด สปสช. ซึ่งมีสิทธิตามกฎหมาย มติที่ออกจึงไม่น่าเป็นโมฆะ อีกทั้งการขยายวงเงินก็ไม่ได้มาก เพราะก่อนหน้านี้ที่เริ่มตั้งกองทุนมีเพียง 80,000 บาท สำหรับกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต ยังขยายเป็น 200,000 บาท จะขยายเพิ่มเป็น 400,000 บาท จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

ส่วน "นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา" ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เห็นว่าในเมื่อขณะนี้ยังไม่สามารถขับเคลื่อนมาตรา 41 ให้เป็นรูปธรรมได้ ทางออกทางเดียว คือ รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ... ให้มีผลบังคับใช้อย่างรวดเร็ว เพราะร่างกฎหมายนี้จะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มทุกระบบ แม้แต่โรงพยาบาลเอกชน

ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ยังอยู่ที่ สธ. และอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายอีกครั้ง จนบัดนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ

แต่ลึกๆ ฝ่ายเครือข่ายผู้เสียหายฯ เชื่อว่า แม้การขยายเพดานวงเงินของมาตรา 41 จะไม่สามารถคุ้มครองไปถึงสิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายเพดานก็มีประโยชน์ในแง่ของการช่วยเหลือผู้ป่วย เพราะกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ นั่นหมายถึงการสูญเสียรายได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนคนทั่วไปทั้งชีวิต

--มติชน ฉบับวันที่ 2 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--