ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ท่าทีของบริษัทยาภายใต้สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) ซึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายควบคุมค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณยาและคุมการใช้ยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติที่รัฐบาลที่อาจกระทบต่อนโยบายหลักประกันสุขภาพของไทย

การออกมาแสดงท่าทีครั้งนี้อาจจะถือเป็นครั้งแรกหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายหลักประกันสุขภาพกว่า10 ปีและมีนโยบายประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร(ซีแอล)หลายตัวและสามารถลดทำให้ประหยัดงบประมาณยาได้

จากข้อมูลพบว่า ยาที่ทำซีแอลและสามารถผลิตยาสามัญมาใช้ได้นั้นทำให้ประหยัดได้ 7,451 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นยาที่ทำซีแอล ประหยัดได้ 6,092 ล้านบาท เช่น ยาโดซีแท็กเซล สำหรับรักษามะเร็งเต้านม จาก28,355 บาท เมื่อทำซีแอล เหลือ 1,757 บาท

ยาโคลพิโดเกรลสำหรับรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ จากเม็ดละ 72.53 บาท เหลือ 0.928 บาท, ยาต้านไวรัสโลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ จาก 74 บาท เหลือ 13 บาท ขณะที่ยาที่ไม่ได้ทำซีแอล ประหยัดได้ 1,359 ล้านบาท เช่น ยาต้านไวรัสเออาร์วี จาก 22,412 บาท เหลือ 19,742 บาท

แน่นอนว่า การคุ้มค่าใช้ยาของรัฐจึงมีเหตุผลและมีที่มาที่ไปเนื่องจากค่าใช้จ่ายยาเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะงบค่ายาของข้าราชการที่สูงถึง 6.4 หมื่นล้าน การควบคุมงบประมาณด้านสุขภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็น

และเมื่อผู้ป่วยบัตรทองควบคุมค่าใช้จ่าย ได้เป็นอย่างดี กรมบัญชีกลางในฐานะกระเป๋า จึงต้องหันไปคุมค่าใช้จ่าย ด้านยาของข้าราชการที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่องบเกือบทุกด้านถูกคุมอย่างเข้มงวดทำให้ส่วนแบ่งการตลาดค่ายาเล็กลง แถมยังมีบริษัทยาสามัญที่ราคาถูกกว่าเข้ามาแข่งขันทำให้บริษัทยาต้องออกมาแสดงท่าทีเพื่อมีส่วนร่วมกับนโยบายสุขภาพของรัฐ

ในมุมของพรีมาซึ่งเสนอให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย เพื่อให้ระบบประกันสุขภาพยั่งยืนก็เป็นมุมที่น่ารับฟัง แต่ขอให้รัฐเลิกคุมงบประมาณด้านยาอาจจะดูสุดโต่งและกลัวการใช้ยาสามัญที่มีราคาถูกมากกว่า

ดังที่ ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า ความกังวลใจของบริษัทยาข้ามชาติที่อ้างว่าประเทศจะมีระบบสุขภาพถดถอยหากใช้แต่ยาชื่อสามัญนั้น น่าจะไม่ใช่ความห่วงใยอย่างแท้จริงเพราะขนาดประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ยังพยายามเพิ่มการใช้ยาชื่อสามัญอย่างมาก จากข้อมูลขององค์กรอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า 8 ใน 10 ใบสั่งยาในสหรัฐ เป็นยาชื่อสามัญและมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการหันมาใช้ยาชื่อสามัญจะทำให้เกิดการใช้เม็ดเงินอย่างคุ้มค่าโดยต้องคำนึงถึงคุณภาพยาเป็นหลักก่อนการพิจารณาราคาอยู่แล้ว

นอกจากนี้ผู้เขียนเห็นว่าการกำหนดและควบคุมราคายาเป็นมาตรการที่รัฐบาลต้องทำอยู่แล้วในการควบคุมงบประมาณและช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา

และมาตรการควบคุมและต่อรองราคายากระทั่งทำให้บริษัทยาสามารถลดราคายาได้ นั่นย่อมหมายถึงอำนาจอยู่ในมือผู้บริโภคแล้ว ดังจะเห็นได้จากหลังองค์การเภสัชกรรมออกประกาศผลิตยาไวอะกร้าขายบริษัทยาข้ามชาติที่ผลิตยาแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพได้ประกาศลดราคายาลดถึง 30%

ท่าทีของบริษัทยา จึงเป็นสิ่งที่บอกว่า อำนาจต่อรองราคายากับผู้บริโภคและเป็นเรื่องที่รัฐมั่นใจว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 ตุลาคม 2555