ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ถือฤกษ์งามยามดีเวลา 07.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม กับการรับตำแหน่ง "ปลัดกระทรวงสาธารณสุข" ของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ วันนี้...นพ.ณรงค์สวมเสื้อสีฟ้าแสดงถึงความเป็น "หมออนามัย" ลูกหม้อกระทรวงสาธารณสุข เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง 5 จุด เริ่มจากพระพุทธนิรามัย ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ศาลพระพรหม พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลา ธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฯ ประดิษฐานบนแท่นฐานเดียวกัน และพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร โดยมีผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ให้การต้อนรับอย่างคับคั่ง

ที่เซอร์ไพรส์กว่านั้นคือ วันแรกกับตำแหน่งใหม่ของ นพ.ณรงค์ มีครอบครัวไปร่วมให้กำลังใจอย่างอบอุ่น โดยหลังจาก นพ.ณรงค์ลงนามรับตำแหน่งที่ห้องทำงานบริเวณชั้น 3 ของอาคารสำนักงานแล้วเสร็จ ก็ได้ก้มลงกราบเท้าของบิดาและมารดา สร้างความซาบซึ้งให้กับบรรดาข้าราชการที่ไปให้การต้อนรับอย่างมาก จากนั้น นพ.ณรงค์ได้มอบหลวงพ่อเงินพุทธโชติ วัดท้ายน้ำ จ.พิจิตร ให้กับผู้ที่ไปร่วมแสดงความยินดีด้วย

นพ.ณรงค์ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขว่า ถ้าเปรียบกระทรวงสาธารณสุขเป็น "เรือ" ขณะนี้ก็ลงเรือลำเดียวกันกับข้าราชการ และก็เปรียบตัวเองเสมือน "คนคัดท้าย" ซึ่งถือเป็นคนสำคัญ ทั้งนี้เป้าหมายที่ต้องเดินไปข้างหน้าคือ "ประชาชน"ต้องมีสุขภาพดี และเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีความสุขกับการทำงาน ดังนั้นมาดูในรายละเอียดกัน!

จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขอย่างไร?

เบื้องต้นจะดำเนินการในภาพรวม 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.สิ่งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกลุ่มอายุ คือ เด็ก สตรี คนชรา เพื่อให้เกิดการบริการทางการแพทย์ที่ชัดเจน ซึ่งกำลังจัดทำแผนเพื่อสรุปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 2.การจัดระบบบริการสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาหน่วยบริการให้เป็นระบบเครือข่าย โดยให้ทั้งโรงพยาบาลใหญ่และโรงพยาบาลเล็ก ร่วมกันคิดร่วมกันทำ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในพื้นฐานความไม่เพียงพอของทรัพยากร หากจะทำให้เกิดประสิทธิภาพทุกฝ่ายต้องร่วมคิดและบริหารทรัพยากรร่วมกัน 3.การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับเหตุภัยธรรมชาติต่างๆ และ 4.การสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการสาธารณสุขตามเขตแนวชายแดน ซึ่งจะมีการหารือเพื่อวางแผนในระยะ 3 ปี ทั้งการตั้งรับและการทำงานเชิงรุก

หากจะเพิ่มประสิทธิภาพงานแล้วจะแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างไร?

ประเด็นบุคลากรรวมทั้งค่าตอบแทนบุคลากร จะต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดความเป็นธรรมแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามดำเนินการตลอด หลังจากรับตำแหน่งจะให้ความสำคัญเรื่องนี้ด้วย โดยประเด็นเหล่านี้จำเป็นต้องหารือร่วมกันในโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในทุกโรงพยาบาลไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่

จะเดินหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...อย่างไร?

เรื่องนี้ต้องหารือกันทั้งบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้ แต่เท่าที่ทราบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อยู่ระหว่างหารือประเด็นมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขยายวงเงิน หรือการครอบคลุมสิทธิต่างๆ ตรงนี้ต้องพิจารณา เป็นอำนาจบอร์ด สปสช. แต่ทั้งหมดต้องขึ้นกับประโยชน์ของทุกฝ่าย ทุกอย่างต้องเสมอภาค

มีมาตรการหรืองานใดที่ต้องขับเคลื่อนเร่งด่วนหรือไม่?

นโยบายเร่งด่วน ณ ขณะนี้ จะเน้นเรื่องการบริการฉุกเฉินให้แก่ผู้ป่วยอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะกรณีเกิดภัยธรรมชาติ ต้องให้การช่วยเหลือทั้งหมด รองลงมาเป็นนโยบายหลักประกันสุขภาพที่เน้นให้ทุกสิทธิได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม

นโยบายการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมจะขยายเรื่องใดอีกหรือไม่?

สำหรับนโยบายบูรณาการการบริการสาธารณสุขให้เป็นเอกภาพนั้น ที่ผ่านมาได้ดำเนินการนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา และล่าสุดกรณีการขยายบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ป่วยเอชไอวี ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วในวันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมก่อนหน้านี้แล้ว โดยได้กำชับกับโรงพยาบาลต่างๆ ให้บริการอย่างครอบคลุม

ส่วนเรื่องการขยายสิทธิโรคเรื้อรังอื่นๆ อาทิ โรคมะเร็ง ยังต้องหารือในบอร์ด สปสช.ต่อไป

ปัญหาใดในกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเร่งแก้ไข?

คงไม่มีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ เป็นงานเดิมที่ทำอยู่แล้ว แต่ทำให้ดียิ่งขึ้น คงเน้นเรื่องสร้างความเป็นพี่เป็นน้อง ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขในทุกระดับ ซึ่งการทำตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า ในกระทรวงสาธารณสุขขัดแย้งกัน แต่เป็นการทำงานเพื่อน้ำหนึ่งใจเดียวกันและให้เป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น

กังวลอะไรกับการรับตำแหน่งครั้งนี้หรือไม่?

ส่วนตัวไม่กังวลอะไรปัญหามีไว้แก้ คิดว่าได้ทำงานผ่านมาในทุกจุดของกระทรวงสาธารณสุขทั้งโรงพยาบาลชุมชน กรม กองต่างๆ คิดว่าสามารถเดินไปร่วมกันได้

แต่ต้องทำให้มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทั้งโรงพยาบาลระดับเล็ก และโรงพยาบาลใหญ่ เน้นการบริการที่ดีแก่ประชาชนเป็นหลัก

ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 2 ตุลาคม 2555