ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

การต่อสู้ทางวิชาการที่ใช้เวลานานสาหรับนักวิชาการคนนี้ ถือว่าคุ้มค่า ไม่ว่าเรื่องยา หรือความพยายามในการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้เธอเป็นครูบาอาจารย์ที่ไม่ได้สอนแค่ในห้องเรียน

หรือทำงานวิจัยเพื่อเลื่อนตำแหน่ง แต่สิ่งที่เธอทำคือ นำความรู้ด้านเภสัชกรรมมาทำงานเพื่อสังคม หลายสิบปีในการผลักดันให้มีการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือ "ซีแอล" (Compulsory License) เนื่องจากบริษัทยาต่างชาติจดสิทธิบัตรเอาไว้ จึงผูกขาดในการจำหน่ายยาราคาแพง ทำให้ผู้ป่วยที่ยากไร้ในประเทศกำลังพัฒนาเข้าไม่ถึงยา

เมื่อเป็นนักวิชาการ ก็ต้องค้นข้อมูลความเป็นจริงมาต่อสู้ ตอนนั้น อาจารย์ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม และกลุ่มผู้ติดเชื้อ จนสามารถผลักดันให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเข้าถึงยาในราคาที่เป็นธรรม โดยการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดยา

แม้จะใช้เวลาหลายสิบปี กว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ประธานสภาผู้บริโภคอาเซียน, ที่ปรึกษาหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตำแหน่งอะไรอีกมากมายที่ไม่อาจกล่าวได้หมด โดยหลักๆ แล้วอาจารย์ทำงานวิจัยการใช้ยาชุมชน อุตสาหกรรมยา และทรัพย์สินทางปัญญา (สิทธิบัตรยา) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ (พ.ศ.2517)

อาจารย์จิราพร บอกว่า การทำงานเรื่องยาเพื่อประชาชน ต้อง กัดไม่ปล่อย

ส่วนอีกมุม อาจารย์ทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นพ.ร.บ.ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 เพื่อให้ออกเป็นกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภค แม้กฎหมายยัง ไม่คลอด แต่องค์การอิสระจำลองเสมือนจริงทำงานตรงนี้แล้ว

ว่าไปแล้วเรื่องที่อาจารย์ขับเคลื่อน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทั้งประเทศ หากคุณสงสัยว่า "ค่าธรรมเนียมโอนเงินธนาคาร...เป็นธรรมแล้วหรือ" "ทำไมอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงจัง "ทำไมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูง แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ" "การโฆษณาอ้างสรรพคุณยาหรืออาหารเสริม นั่นหลอกผู้บริโภคหรือไม่" ฯลฯ

เรื่องเหล่านี้ แม้จะมีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคดูแลหลายหน่วยงาน แต่ประสิทธิภาพในการทำงานไม่อาจคุ้มครองผู้บริโภคได้ ไม่เว้น แม้กระทั่งองค์กรเล็กๆ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แม้จะยืนข้างผู้บริโภค แต่ยังไม่เพียงพอ อาจารย์จิราพรบอกว่า ถ้าเมื่อใดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้น มีกฎหมายรองรับ เมื่อนั้นแหละประเด็นความเดือดร้อนสาธารณะของ ผู้บริโภคจะได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น

จึงเป็นที่มาของการพูดคุยในครั้งนี้ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ จนถึงเรื่องระดับชาติ...

ก่อนอื่นต้องถามสักนิดว่า ใครเป็นแบบอย่างในการทำงานของอาจารย์

ในเรื่องการต่อสู้หรือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในสังคม ต้องยกให้อาจารย์สำลี ใจดี เพราะเขามีความมุ่งมั่น กัดไม่ปล่อย ส่วนคนที่มีบุคลิกสามารถขับเคลื่อนสังคมได้ดี นุ่มนวลเข้ากับคนได้ ก็ต้องอาจารย์ประเวศ วะสี ใครจะว่าอะไร...ก็เฉย ส่วนอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างทางวิชาการพยายามอ่านค้นจากความจริงคือ คุณหมอวิชัย โชควิวัฒน์ แต่ละคนมีความเด่นคนละเรื่อง เพราะไอดอลของเราเป็นเรื่องๆ ไป

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ทำงานเพื่อสังคมตลอดหลายสิบปี

อาจเป็นเพราะมีครูบาอาจารย์ที่ดีให้ความรู้และมุมมองทางสังคมกับเรา โชคดีที่ตอนเรียนจบใหม่ๆ ได้ออกไปชนบท เพราะเราเป็นครอบครัวชนชั้นกลาง ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่เคยเห็นความลำบากยากจน เมื่อได้ออกไปทำงานวิจัยการใช้ยาชุมชน ต้องไปนอนกับชาวบ้านเป็นอาทิตย์ ได้เห็นความลำบากและปัญหาการใช้ยา ซึ่งเมื่อก่อนเราคิดว่า ชาวบ้านไม่น่าจะลำบาก อ่านฉลากยาได้ แต่เมื่อไปเห็น ก็รู้ว่ามีปัญหาเยอะ โดยเฉพาะปัญหาการใช้ยาโดยไม่รู้สรรพคุณ ใช้ตามแรงโฆษณา

สมัยนั้นเราเห็นชาวบ้านกินยาที่ไม่เหมาะสม จึงเป็นแรงขับในการสอนนักศึกษาให้ทำยา เรียนรู้ให้เข้าใจยา และเข้าใจคนไข้ เรามองว่า ปัญหายาเป็นปัญหาเชิงสังคมและโครงสร้าง ถ้าเราไม่แก้โครงสร้าง แล้วทำแต่เรื่องเล็กๆ ไม่มีทาง ที่การใช้ยาในสังคมไทยจะดีขึ้น ถ้าเราจะรอให้คน มีการศึกษาที่ดี คงไม่ทันการณ์ เราก็เลยต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับสังคม และช่วงที่หาประสบการณ์ก็ไปทำวิจัยในประเทศนอร์เวย์หนึ่งปีสังคมที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนอยู่นอร์เวย์ ต้องทำงานในห้องแล็บ ที่นั่นไม่ว่าอาจารย์หรือคนกวาดพื้น ต่างเคารพสิทธิ ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าใครจะทำอาชีพอะไร เขามีศักดิ์ศรี มีความรับผิดชอบในงานตัวเองเป็นอย่างดี คนกวาดพื้นก็ภูมิใจในงานทำความสะอาด เก็บขยะ แต่ถ้าเป็นเมืองไทย มีผู้ใหญ่คนหนึ่งทิ้งกระดาษ คนทำความสะอาดต้องรีบเก็บ จะไปบอกว่า ไม่ถูกต้องเหมือนคนที่นั่นไม่ได้ ตอนทำงานในห้องแล็บ พนักงานทำความสะอาดสามารถแนะนำหลักการเบื้องต้นให้เราได้ จะใช้วัสดุชิ้นใดใส่ขยะมีพิษ ถ้าเราลืมหรือเก็บของไม่ถูกที่ถูกทาง เขาก็จะเดินมาบอก มันมีความเสมอภาค แต่ถ้าเป็นเมืองไทย คนทำความสะอาดจะมาเตือนก็ไม่ได้ อีกอย่างพวกเขามีระบบประกันสังคมที่ ทุกคนเข้าถึง ไม่ต้องกังวลเหมือนคนไทย เราได้เรียนรู้ปัญหา เมื่อกลับมาทำงานในเมืองไทย ก็คิดว่าจะใช้งานวิจัยของเราเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาให้สังคม แต่เสนอไปรัฐบาลก็เงียบ ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงคิดว่าน่าจะรวมตัวกันทำเป็นกลุ่ม ตอนนั้นมีเพื่อนอาจารย์สามสี่คนมาคิดกันว่า เราคงต้องช่วยกันขับเคลื่อนสังคมเพื่อชาวบ้าน จึงตั้งกลุ่มศึกษาปัญหายาตั้งแต่ปี 2517 มีช่วงหนึ่ง ผลักดันให้ยกเลิกสูตรยา APC (ยาแก้ปวดชนิดซอง ซึ่งเป็นสูตรยาผสม 3 ตัว แอสไพริน (aspirin) เฟนาซีทิน (phenacetin) และกาเฟอีน (cafeine)) เพราะจากการศึกษาวิจัยพบว่า ถ้าให้ประชาชนกินต่อไปกระเพาะทะลุ จากที่เขาไม่รู้ ถ้าดื่มกาแฟ ก็ไม่เป็นอย่างนี้ แต่ชาวบ้านก่อนไปทำนา มีซองยา พวกนี้ก็กรอกเข้าปาก

กว่า 30 ปีที่ทำงานขับเคลื่อน เพื่อให้คนในสังคมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น?

มีหลายเรื่องที่ทำ บางเรื่องเราเป็นตัวหลัก บางเรื่องเป็นตัวรอง ถ้าเป็นเรื่องที่เราเป็นตัวหลัก คือ เรื่องยา เรารู้ว่ามีความสำคัญ เราก็กัดไม่ปล่อย เพราะราคายาเป็นผลประโยชน์ที่ปล่อยไม่ได้ เราจึงต้องใช้องค์ความรู้ในการขับเคลื่อน วิชาการ เชิงประจักษ์ เราก็เข้าใจคนทำธุรกิจ แต่คุณจะทำกำไรโดยความไม่รู้ของชาวบ้านหรือ เราทำงานเพื่อคนจน จนมีคนบอกว่า  อาจารย์จิราพรซ้ายจัด แต่เราไม่สนใจ  เวลาน้องๆ องค์กรพัฒนาเอกชน จะทำงานขับเคลื่อน ต้องการนักวิชาการพูดบนเวที ไม่ว่า ที่ไหนเราพร้อมจะออกหน้า เพราะมีนักวิชาการหลายคนไม่กล้าขึ้นเวที เราก็ยินดี

เพราะการเป็นนักวิชาการจะอยู่ในห้องวิชาการ หรือสอนหนังสืออย่างเดียวไม่ได้ เราต้องทำให้ ชาวบ้านมีความรู้ด้วย อาจารย์ประเวศ วะสี บอกเสมอว่า การขับเคลื่อนสังคม ต้องมีองค์ความรู้ เคลื่อนสังคม เพื่อผลักดันให้นโยบายเกิดขึ้นจริง ไม่อย่างนั้นผลประโยชน์จะเกิดกับกลุ่มที่พยายามล็อบบี้ในเรื่องนั้นๆ  จึงต้องมีการต่อสู้เชิงวิชาการ เราต้องทำให้คนระดับบนและระดับล่างเข้าใจข้อมูล เพราะเราไม่มีอำนาจเงินและอำนาจเศรษฐกิจ เราจึงต้องใช้วิชาการล้วนๆ ต่อสู้ เพราะพวกเขามีสองอำนาจ แต่อำนาจที่จะหนุนเราคือ อำนาจสังคม

แม้จะทำงานบนฐานวิชาการ แต่สิ่งที่อาจารย์ทำเป็นการเล่นกับกลุ่มที่มีอำนาจ ถ้าอย่างนั้นเคยถูกคุกคามไหม

ไม่เคยถูกคุกคามในแง่ยื่นโนติสหรือถูกฟ้อง ไม่เคยโดยตรง แต่มีคนพยายามดิสเครดิต ใช้พวกพ้อง มาพูดให้ได้ยินว่า "อาจารย์จิราพร มองแต่ชาวบ้าน หัวรุนแรง ก้าวร้าว" จนกระทั่งคนที่พูดแบบนั้นมานั่งฟังเราบรรยาย จึงได้รู้ว่า เราให้ข้อมูลแบบตรงไปตรงมา อีกอย่างคนที่ทำงานแวดวงนี้ หลายคนเป็นลูกศิษย์ พวกเขาก็เคารพเราระดับหนึ่ง

การขับเคลื่อนเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องและเป็นธรรม ใช้เวลานานมาก? เรื่องแรกที่เราขับเคลื่อนและได้ผลคือ ถอนทะเบียนยา APC แต่ละเรื่องที่ทำแล้วประสบ ความสำเร็จ เป็นเพราะจังหวะที่นักการเมืองบางคน ให้ความสำคัญ อย่างช่วงที่เราทำเรื่องการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาได้  เพราะเป็นจังหวะที่ คุณหมอมงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคาะนโยบายเรื่องนี้ เรื่องทั้งหมดต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องยาก เมื่อจะเผยแพร่งานวิจัย ก็ต้องมีวิธีการย่อในแต่ละระดับ โชคดีที่เราทำงานกับกลุ่มที่มีโครงสร้างเข้มแข็ง อย่างกลุ่มทำงานกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งบางคนฟังข้อมูลจากเราเยอะมาก ประกอบกับพวกเขาใช้ยาต้านไวรัส รู้ว่ายาเป็นอย่างไร แต่ต้องใช้ ทั้งๆ ที่ราคาแพงมากเรื่องไหนที่ทำแล้วภูมิใจที่สุด

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเราได้ให้ข้อมูลไปเยอะ แต่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในระดับเพิกถอนทะเบียนยา แค่มีกลุ่มคนรู้มากขึ้นจากข้อมูลของเรา เพราะนอกจากกลุ่มที่เข้าใจแล้ว ยังมีแกนนำที่พูดแทนเรา ทำให้คนเข้าใจมากขึ้น เราก็ภูมิใจ เพราะบางครั้งเรารู้เยอะ อยากถ่ายทอด ใช่ว่าทุกคนจะรับได้ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่รับได้ และถ่ายทอดต่อ ในเรื่องยาตอนนี้เราค่อนข้างสบายใจ เพราะมีระดับผู้นำที่ทำงานช่วยเหลือประชาชน กรณีการเพิกถอนตำรับยา APC และการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา รวมถึงการยื้อเรื่องพ.ร.บ.สิทธิบัตร อเมริกากดดันไทยตั้งแต่ปี 2528 แต่เรายื้อไปถึง ปี 2535 แม้เวลาจะไม่ยาวนัก แต่ทำให้อุตสาหกรรมยาในเมืองไทยเข้มแข็งระดับหนึ่ง ซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จ หลายเรื่องที่ทำ เราก็สนุก ถ้าได้ผลระดับหนึ่ง ก็มีความสุข

ประเด็นไหนที่อาจารย์รู้สึกลำบากใจในการขับเคลื่อน

เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แม้กระทั่งเภสัชกร ก็ยังทำให้พวกเขาเข้าใจไม่ได้ว่า ทรัพย์สินทางปัญญา เกี่ยวข้องกับเภสัชกรหรือยาอย่างไร เราต้องใช้เวลา ในการศึกษาวิจัยนานมาก ตอนนั้นในแวดวงเภสัชกร ไม่มีใครสนใจเหมือนเรา จึงต้องไปดึงทีมมาจาก วิชาชีพอื่น ตอนนี้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการคิดค้นยาใหม่ๆ ระบบต้องไม่ขัดขวาง ต้องไม่ทำให้เกิดการผูกขาด เอาเปรียบชาวบ้านเกินไป เราก็ผลักดันเรื่องนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องทำฐานข้อมูลให้ดี ไม่อย่างนั้นประเทศเราจะเสียเปรียบ เพราะประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ขอสิทธิบัตรยาเป็นต่างชาติและบริษัทยาข้ามชาติ คนที่ทำงานด้านนี้ก็ควรตรวจสอบคุณภาพด้วย ไม่ใช่นำยาตัวเก่าสองตัวมาผสมกัน ก็ให้สิทธิบัตรแล้ว เพราะฉะนั้นระบบทรัพย์สินทางปัญญา เราพยายามศึกษาข้อมูล ให้ครบวงจร เพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ว่ายาอะไรก็ได้

ในเรื่องผู้บริโภค เป็นอีกส่วนที่อาจารย์ให้ความสำคัญ?

เรามองปัญหายาแยกจากการสาธารณสุขไม่ได้ และยังมีปัญหาเรื่องอาหาร พลังงาน การบริการ ฯลฯ เป็นเรื่ององค์รวมของผู้บริโภค เราก็ร่วมคิดในการตั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำจนเป็นประธานมูลนิธิฯ สองสมัย พวกเราทำงานสามส่วนคือ 1.ผลิตนิตยสารฉลาดซื้อ โดยไม่รับโฆษณาใดๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อถือในข้อมูลในการให้ความรู้ประชาชน 2.งานร้องเรียน โดยการตั้งทนายอาสาเพื่อช่วย ผู้บริโภค และ 3.การขับเคลื่อนเมื่อมีคนร้องทุกข์ สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง เรามีข้อมูลเยอะ ทำให้เรารู้ว่า ผู้บริโภคส่วนหนึ่งไม่รู้สิทธิ เมื่อไม่รู้สิทธิอาจถูกหลอก ช่วยยกตัวอย่างสักนิด?

สิทธิพื้นฐานผู้บริโภคที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้มีอีกเยอะ อย่างสิทธิที่จะรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริหารอย่างถูกต้องและเพียงพอ ที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการ ทำสัญญา โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ฯลฯ ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีเครื่องปรับอากาศยี่ห้อหนึ่งโฆษณาว่า ฆ่าเชื้อไวรัสได้และขายในราคาแพง ข้อมูลนี้จริงไหม เราเคยเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ทดสอบ แต่เขาไม่ทำ จึงต้องมีองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการบริโภค ไม่ถูกหลอก เพื่อให้เกิดการควบคุมกำกับการโฆษณา และกระตุ้นให้มีการปรับปรุงบทลงโทษให้เข้มข้น

เราพยายามสร้างความเข้มแข็งเรื่องนี้ เราก็ต้อง มีผู้เชี่ยวชาญ แต่นั่นไม่ใช่ความกังวล สิ่งที่กังวล คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จึงพยายามสร้างองค์การอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะตอนนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำงานโดยการพึ่งตัวเอง ไม่รับเงินช่วยเหลือจากบริษัท แม้จะมีหลายบริษัทอยากสนับสนุน แต่เราไม่อยากให้เกิดอคติ เพราะ ในต่างประเทศองค์กรแบบนี้เป็นหน้าที่ของรัฐ เท่าที่ผ่านมามีหลายกรณีความเสียหายเกิดจากองค์กรภาครัฐ แม้จะมีสคบ.แต่เขาไม่ฟ้อง เราจึงพยายามผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อจะได้มีงบประมาณบริหารจัดการเรื่องนโยบายเชื่อมโยงกับรัฐบาล ขับเคลื่อนมานานกว่า 14 ปีเพื่อให้เกิดองค์กรนี้ ตอนนี้ยังเป็นพ.ร.บ.ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 ผ่านการพิจารณาจากสมาชิกผู้แทนราษฎรสามวาระ ถ้าสมาชิกวุฒิสภาไม่แก้ในสาระสำคัญ ก็จะออกเป็น กฎหมายได้เลย แต่บังเอิญสมาชิกวุฒิสภาวางแนวทางไว้ว่า ให้มีการสนับสนุนองค์กรนี้ ถ้าคิดจากจำนวนประชากร หัวละ 3 บาท รวมๆ แล้ว ร้อยกว่าล้านบาท ต้องทำงานสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เงินแค่นี้จะทำอะไรได้ เพราะต้องทำงานวิจัยด้วย ทางเราจึงขอหัวละ 5 บาท

องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีผลต่อสังคมอย่างไร

มีผลต่อภาคธุรกิจไม่ใช่น้อย ถ้ามีสินค้าบางยี่ห้อเป็นพิษภัยต่อผู้บริโภค ก็จะสามารถตรวจสอบและให้ข้อมูลต่อสาธารณชนได้ นี่คือ ประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้กลุ่มธุรกิจไม่อยากสนับสนุน ถ้าเราทดสอบ แล้วไม่ได้มาตรฐาน ทางผู้ประกอบการรายนั้น ไม่สามารถฟ้องร้องเราได้ เพราะเป็นหน้าที่ขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องให้ความจริงกับสาธารณชน อย่างน้ำปลาบางยี่ห้อไม่มีโปรตีนเลย มีแต่เกลือ เราให้ข้อมูลได้เลย เพราะตอนนี้หน่วยงานรัฐ ไม่ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือสคบ.เวลาวิเคราะห์ข้อมูล แค่บอกว่า มีผลิตภัณฑ์ สองตัวอย่างที่มีแร่ใยหิน แต่ไม่บอกยี่ห้อ แล้วชาวบ้าน ไม่อยากใช้ ก็ไม่รู้ว่ายี่ห้ออะไร อย่างเคยมีแป้งผัดหน้า บางยี่ห้อมีแร่ใยหิน เพราะแป้งทำมาจากดิน อาจเป็นดินที่มีเหมืองแร่ปนเปื้อน  ตอนนั้นมีจำหน่ายในเมืองไทย แต่ทางเราถามไป ก็ไม่บอกยี่ห้อ

ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียน แต่หน่วยงาน ที่รับผิดชอบไม่สามารถจัดการได้ อาจารย์มี ข้อเสนอแนะอย่างไร  องค์กรรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับผู้บริโภค มีปัญหาเรื่องการประสานงาน ดังนั้นถ้ามีองค์การนี้ เวลาคุณจะออกกติกาหรือนโยบายที่เป็นปัญหา ต่อผู้บริโภค คุณต้องมาปรึกษาเรา เพื่อให้เกิดความรอบคอบ อย่างการขึ้นค่าบริการทางยกระดับ โทลล์เวย์ อยู่ดีๆ ก็ขึ้นเลย ผลการศึกษามีไหม แล้วสัญญาที่ทำไว้ จำเป็นต้องเสียเปรียบขนาดนั้นเลยหรือ ไม่มีการพูดถึงเลย ตอนนี้พ.ร.บ. ส่วนนี้อยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม ถ้าพิจารณาเสร็จแล้วรับรองในรัฐสภา ก็ออกเป็นกฎหมายได้เลยจะใช้เวลานานไหม

คิดว่าจะเสร็จในสมัยการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่เราทำเรื่องนี้ เพราะเราอยากให้เกิดความสมดุลสำหรับผู้บริโภค เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยนี้พัฒนาเร็วมาก ดังนั้นการที่ผู้บริโภคจะถูกเอาเปรียบมีหลายช่องทาง และกฎหมายเรื่องนี้ เราพยายามออกแบบไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ก็ขึ้นอยู่กับคน จะไปได้ดีหรือไม่ดีอยู่ที่ความตื่นตัว พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องมีคณะกรรมการมาดูแล แต่ตอนนี้กฎหมายยังไม่ออก เราก็ประชุมกลุ่มองค์กรผู้บริโภค เพื่อคัดเลือกคณะกรรมการ 8 คน และผู้เชี่ยวชาญที่องค์กรผู้บริโภคเป็นผู้เสนอชื่อให้กรรมการสรรหาเลือก 7 คน ตอนนี้มีกรรมการแล้ว เราก็เริ่ม ทำงาน โดยมีเครือข่ายผู้บริโภคช่วยกันทำงาน เราเหมือนองค์การจำลององค์การอิสระจำลอง เริ่มทำงานแล้ว?

ในฐานะประธานองค์การอิสระจำลองที่เราทำ ตอนนี้ เรื่องหลักที่เราจะทำ อย่างเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนเงินของธนาคาร ดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ สูงมากและไม่เป็นธรรม เราจะใช้งานวิจัยศึกษา โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการคลังทำเรื่องนี้ เพราะมีคนร้องเรียนเยอะ ตอนนี้อาจารย์เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กำลังฟอร์มทีมกับผู้บริโภค ซึ่งกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นกุญแจสำคัญในด้านวิชาการร่วมกับผู้บริโภค  ถ้าเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค และเป็นประเด็นสาธารณะเชิงนโยบาย องค์การนี้ จะขับเคลื่อน ซึ่งตอนนี้ก็มีคำถามว่า เครือข่าย เพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ทำงานอยู่แล้ว แล้วองค์กรนี้ตั้งมาทำไม เพราะองค์กรเหล่านั้นทำโดยไม่มีกฎหมายรองรับ การมีองค์การอิสระเหมือนมีหน่วยงานรองรับ เพราะมีหลายเรื่อง เป็นประเด็นสาธารณะ แต่ไม่มีเจ้าภาพ เรื่องใหญ่ๆ อย่างกรณีแร่ใยหิน ประเทศสิงคโปร์ก็ไม่ใช้แล้ว แต่บ้านเรา แร่ใยหินเป็นองค์ประกอบในการทำกระเบื้องมุงหลังคา บริษัทส่วนใหญ่เลิกทำกระเบื้องจากแร่ใยหิน มีบริษัทเดียวที่มีอำนาจทางธุรกิจสูง ถ้ามีองค์กรนี้ก็จะให้ข่าวสารเปิดเผยได้

ตอนนี้องค์กรผู้บริโภคทำงานร่วมกับเครือข่าย อาเซียน เรื่องหลักๆ คือ เศรษฐกิจ หลายประเทศ ในอาเซียนมีสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค อยู่ภายใต้ กระทรวงพาณิชย์ แต่บ้านเราอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ตอนนี้มี 10 ประเทศเป็นสภา ผู้บริโภคอาเซียน จดทะเบียนที่อินโดนีเซีย ใน 10 ประเทศมี 3 ประเทศไม่มีองค์กรผู้บริโภค ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยเป็นประธาน เราประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียนเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรามีแนวคิดว่า ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งแบนสินค้า อะไรแล้ว ประเทศอาเซียนในเครือข่ายจะแบนด้วย เพราะเราเป็นประชาคมอาเซียน เหมือนบ้านเดียวกัน เราต้องผลักดัน จึงต้องมีองค์การอิสระ เพราะเราเห็น ตัวอย่างจากสิงคโปร์ไม่ให้มีแร่ใยหินในประเทศได้ เพราะพวกเขามีเครือข่ายในการคุ้มครองผู้บริโภค

ถ้ามีองค์การนี้ การให้ข้อมูลประชาชนจะดีขึ้นไหม  การให้ข้อมูลในเรื่องสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรมเป็นจริงต่อประชาชน เป็นสาระสำคัญ อย่างกรณีสถานบริการฟิตเนสแห่งหนึ่งมีข้อสัญญา ไม่เป็นธรรมหลายอย่าง มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเยอะ แต่หน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดในการดำเนินการ ซึ่งมีปัญหามาก ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง จึงเป็นหน้าที่ขององค์การนี้

งานวิจัยฝ่ายธุรกิจที่ออกมาหักล้างข้อมูลองค์กรผู้บริโภค ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เรื่องนี้ อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

ยกตัวอย่างเรื่องแร่ใยหิน ตอนนี้ผู้บริโภคมีความรู้ระดับหนึ่ง องค์กรอนามัยโลกประกาศเลยว่า เป็นสารก่อมะเร็ง แล้วบริษัทธุรกิจออกมาโต้ว่า ไม่มีสารก่อมะเร็ง เพราะมีนักวิชาการรับจ้างกลุ่มหนึ่ง ทำงานให้ เราจึงต้องสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ อย่างการโฆษณาเรื่องอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์ ที่โฆษณาชวนเชื่อ ก็ต้องแก้ทั้งต้นทางและปลายทาง ต้นทางก็เรื่องมาตรการโฆษณา ปลายทางคือ ความเชื่อ การโฆษณากรอกหู ถ้าฐานความรู้ของประชาชนไม่แน่น เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะกลุ่ม ที่เชื่ออย่างนั้น เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ อยากหาอะไร ก็ได้ที่รักษาหาย หรือกรณีพวกขายตรง ทั้งๆ ที่สินค้ามีราคาสูง คนขายก็บอกว่า มันดี เคยมีน้ำผลไม้ ยี่ห้อหนึ่งจำหน่ายขวดละสามพันกว่าบาท ก็ยังมีคนดื่ม เรื่องความเชื่อ แก้ยาก จึงต้องมีเครือข่ายผู้บริโภคกระจายให้ทั่วประเทศ

แม้จะเกษียณแล้ว แต่ยังทำงานเยอะเหมือนเดิม?

สังคมไทยยังต้องขับเคลื่อนอีกเยอะ เพราะเรายังทำประโยชน์ได้ ยังมีแรงทำอยู่ เมื่อก่อนลงมือทำวิจัยเอง แต่ตอนนี้เราเป็นที่ปรึกษาช่วยคนอื่น ต้องค้นคว้าเยอะเหมือนเดิม ที่ยังทำงานเยอะ ก็ทำให้สมองไม่ฝ่อ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่ใช้ สมอง อัลไซเมอร์มาถึงเราแน่ เมื่อเรามีชีวิตอยู่ จึงต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีร่างกายแข็งแรง และสมองที่ดี

'กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องทาฐานข้อมูลให้ดีไม่อย่างนั้นประเทศเราจะเสียเปรียบ เพราะประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ขอสิทธิบัตรยาเป็นต่างชาติและบริษัทยาข้ามชาติ คนที่ทางานด้านนี้ควรตรวจสอบคุณภาพด้วย ไม่ใช่นายาตัวเก่าสองตัวมาผสมกัน ก็ให้สิทธิบัตรแล้ว'

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 ตุลาคม 2555