ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมออำนาจ"ชงแก้มาตรา 41 ครอบคลุมประกันสังคม-ข้าราชการเข้าบอร์ดแพทยสภาหาช่องทางแก้กฎหมาย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ย้ำเป็นไปไม่ได้

จากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)มีมติยืนยันดำเนินการปรับเพิ่มเพดานเงินจ่ายชดเชยเบื้องต้นตามาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกัoสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพอย่างถาวร จากเดิมจ่ายเพดานสูงสุด 1.2 แสนบาท เป็น 2.4 แสนบาท กรณีบาดเจ็บต่อเนื่องจ่ายสูงสุดจาก 5 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาทมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 แม้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)จะมีหนังสือท้วงติงเนื่องจากเกรงจะเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า แม้จะขยายวงเงินให้สูงขึ้น แต่กรณีนี้จะได้เพียงผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น จึงเห็นว่าบอร์ด สปสช.ควรพิจารณาขยายไปยังสิทธิอื่นๆให้ครบทั้ง 3 กองทุนคือ 30 บาท ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชหาร ซึ่งที่ผ่านมาแม้มีการเสนอ สุดท้ายยังล่าช้า เนื่องจากต้องส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและการคุ้มครองสิทธิ ในบอร์ด สปสช. พิจารณา ทำให้ต้องผ่านหลายขั้นตอนอย่างไรก็ตาม การขยายสิทธิดังกล่าวไปยังกองทุนอื่นๆ สามารถแก้ไขได้ตามมาตรา 41 และแก้ไขข้อบังคับของสปสช.ว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยเปลี่ยนเป็นช่วยเหลือเป็นอันสิ้นสุด เมื่อรับเงินแล้วให้ยุติการฟ้องร้อง โดยเพิ่มเงินช่วยเหลือจาก 2 แสนบาท เป็น 2ล้านบาท

"เบื้องต้นการแก้ไขปัญหากฎหมายดังกล่าวมีการพิจารณาจะดำเนินการอยู่ 2 ช่องทาง คือ 1. เสนอแก้กฎหมายผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 20 คน เป็นผู้เสนอแก้กฎหมาย และ 2.ล่ารายชื่อประชาชน 1 หมื่นรายชื่อ ซึ่งผมจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ว่าจะใช้ช่องทางไหนในการเดินหน้าแก้กฎหมาย"ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าว

ด้าน นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า แพทยสภาควรหยุดเดินหน้าในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ควรช่วยกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.ตุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ดีกว่า เนื่องจากขณะนี้มีร่างกฎหมายทั้งของแพทย์ และผู้ป่วยอยู่แล้วเหลือเพียงการปรับปรุงรวมกันเท่านั้น โดยการจัดทำร่างหลัก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคระกรรมการปรับปรุงพิจารณาร่างพ.ร.บ. เมื่อเดือนเมษายน 2555แต่กลับพบว่าไม่มีตัวแทนผู้ป่วย เมื่อเครือข่ายทำหนังสือทวงถาม ได้รับคำตอบว่าจะเร่งปรับปรุงคณะกรรมการใหม่ แต่สุดท้ายก็ยังเงียบ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจะทำหนังสือทวงถามอีกครั้ง หากยังไม่มีความเคลื่อนไหว จะรวมตัวเดินทางไปเรียกร้องที่สธ.ต่อไป

ที่มา: นสพ.คมชัดลึก วันที่ 4 ตุลาคม 2555