ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ช่วงนี้ใคร ๆ ต่างพร้อมใจกันพูดถึงการย่างเข้าสู่ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (เออีซี) ในปี  พ.ศ. 2558 นับนิ้วดูเหลือเวลาให้เตรียมตัว เตรียมใจ อีกเพียงไม่ถึง 3 ปี เส้นพรมแดนของเหล่ารวงข้าวทั้ง 10 ชาติ กำลังจะพร่าเลือนจางไป แล้วหันมามัดกันรวมเป็น "ฐานการผลิตเดียว" เปิดกว้างให้สินค้า  บริการ การลงทุน และแรงงาน สามารถเคลื่อนย้ายอย่างเสรีได้มากขึ้น

หลายคนมองเห็นภาพชวนเคลิบเคลิ้มถึงเม็ดเงินมหาศาลไหลมากองรวมกันในนาม "ตลาดอาเซียน" ทว่ามุมสะท้อนกลับ เมื่อถึงเวลาสะเดาะกลอนไขประตูสู่ "ประชาคมอาเซียน" ที่หลอมรวมความต่างของประชากร 600 ล้านคนเข้าไว้ ด้วยกัน แต่ละประเทศต่างต้องเตรียมตัวร่วมหอลงโรงแบกภาระหนักอึ้งของกองปัญหา "ความท้าทายด้านสุขภาพ" ร่วมกันด้วย

หลายฝ่ายเริ่มขยับเขยื้อน ทางฝั่งรัฐมนตรีสาธารณสุขแห่งอาเซียนเพิ่งจัดประชุมในหัวข้อว่าด้วย "ประชาคมอาเซียน 2558 : โอกาสและความท้าทายด้านสุขภาพ" เน้นผลักดันสร้างความร่วมมือด้านระบบสุขภาพ มุ่งดูแลโรคไม่ติดต่อและโรคอุบัติขึ้นใหม่

ด้วยความตระหนักก่อนถึงวิกฤตสุขภาพ "ประชาชาติธุรกิจ" นัดสัมภาษณ์พิเศษกับ "รศ.น.พ.ประตาป สิงหศิวานนท์"เลขาธิการเครือข่ายเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุข ซีมีโอ และอดีตคณบดีเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มาช่วยฉายภาพจำลองภาวะโรคภัยไข้เจ็บก่อนเปิดเออีซี

อาจารย์ประตาปเล่าย้อนถึงวิวัฒนาการของโรคภัยจากอดีตถึงปัจจุบัน เพราะเป็นภาระของอาเซียนต้องเผชิญ เริ่มตั้งแต่กลุ่มโรคเจเนอเรชั่นยุคแรก คือ "โรคระบาดและติดเชื้อ" เช่น กาฬโรค อหิวาตกโรค โปลิโอ บาดทะยัก เป็นต้น เคยทำให้คนล้มตายกลาดเกลื่อนมาแล้ว ต่อมาเมื่อโลกฝั่งตะวันตกก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและวิทยาการ จนสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคได้ดีขึ้น ทำให้โรคระบาดร้ายแรงต่างทยอยถอยห่างจากประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังคงตกค้างอยู่ใน ซีกโลกที่กำลังพัฒนา รวมถึงแถบอาเซียนด้วย

"ถึงตอนนี้ บางสมาชิกอาเซียนยังคงเผชิญกับโรคระบาดเจเนอเรชั่นแรกอยู่ ยิ่งโดยเฉพาะประเทศที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่าง ลาว พม่า กัมพูชา ในขณะที่ประเทศอย่างสิงคโปร์แทบไม่พบโรคระบาดในกลุ่มนี้แล้ว ส่วนมาเลเซียและไทยก็พบน้อยลงมาก"

แต่หากเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายสิ่งต่าง ๆ ในภูมิภาคอย่างอิสระขึ้น การควบคุมโรคระบาดก็กระทำได้ยากขึ้น หมายความว่า โรคที่ยังไม่เคยเกิดในบางประเทศก็เสี่ยงกลับมาเกิดขึ้นได้ เช่น เมืองไทยกลับมาพบโรคบางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมานานแล้ว เช่น โรคกาฬหลังแอ่น โรคเท้าช้าง เป็นต้น

เมื่อโรคกลุ่มที่ระบาดในยุคแรกยังมีอยู่ อาเซียนเลยเข้าตำรา "ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก" เพราะโรคเจเนอเรชั่นรุ่นสองได้เข้าถาโถมซ้ำอีก ระลอกนี้เป็นกลุ่ม "โรคไม่ติดต่อ" โดยเฉพาะที่มีสาเหตุจากไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ทั้งเทรนด์สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ใช้ยาเสพติด ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารขยะ ติดความหวาน ขาดความมันไม่ได้ ต่างนำโรคมาคร่าชีวิตพลเมืองอาเซียนจำนวนมาก

ปัญหาโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรัง ที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญไม่เฉพาะในอาเซียน แต่เป็นทั่วโลก พร้อมชี้ 4 โรคน่าห่วงสุด คือโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด และโรคเบาหวาน

ถัดจากปัญหาสองกลุ่มแรก อาเซียนยังต้องเตรียมรับคลื่นลูกที่สาม คือ "ปัญหาด้านสุขภาพจิต" เพิ่มอีก สืบเนื่องจากความเครียด ความกดดัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ห่างเหิน และปัญหาความรุนแรงในสังคม สร้างให้มีตัวเลขผู้ป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"อีกประเด็นที่อาเซียนต้องตระหนัก คือเมื่อคนสามารถย้ายไปทำงานต่างถิ่นได้ง่ายขึ้น เช่น คนไทยไปทำงานที่สิงคโปร์ ย่อมต้องเตรียมปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่ต่างกัน สภาพสังคมที่ไม่คุ้นชิน หรือหากต้องไปอยู่ในสังคมมุสลิม อาจทำให้เกิดภาวะ 'ช็อกทางวัฒนธรรม' ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ" อาจารย์ประตาปกล่าวเสริมฟังดูแล้ว ภาพจำลองอนาคตประชาคมอาเซียนต้อง เตรียมเผชิญปัญหาซ้อนทับหลายวง ทั้งการแพร่ของโรคระบาดจากเพื่อนบ้านบางประเทศ ผสมโรงกับภาระอัตรา ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมใช้ชีวิต เกินพอดี เสริมแรงด้วยปัญหาสุขภาพจิตที่กำลังตามมา

เมื่อเปิดการค้าเสรีต้องมาพร้อมคอนเซ็ปต์ ที่ว่า ปัญหาสุขภาพไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ต้องมองในนามอาเซียนเป็น "ASEAN Health"ดังนั้นอาเซียนต้องเร่งสร้างมาตรฐานด้านสุขภาพโดยด่วน ไม่ใช่แค่เฝ้าระวังโรคระบาดจากคนสู่คน แต่ต้องรวมถึงมาตรการนำเข้าสินค้าและสัตว์ต่าง ๆ ด้วย เพื่อเตรียมรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังจะตามมา

นายแพทย์ประตาป ทิ้งท้ายว่า "ต้องมองการพัฒนาเศรษฐกิจคู่ขนานกับเรื่องสุขภาพและสังคมเสมอ"

หากประชาคมอาเซียนหวังเป็นเสือเศรษฐกิจทะยานบนเวทีโลก ก็ควรดูแลสุขภาพตัวเอง อย่าปล่อยให้กลายเป็น "เสือป่วย" นอนซม ให้ต่างชาติต้องมารักษา

ยูเอ็นชี้ 4  โรคน่าห่วง

"สุรินทร์ พิศสุวรรณ" เลขาธิการอาเซียน เผยในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 11 ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการร่วมกันหามาตรการควบคุม "โรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรัง" ที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญไม่เฉพาะในอาเซียน แต่เป็นทั่วโลก โดยทางสหประชาชาติกังวลว่า หากไม่มีมาตรการที่ดี การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของโรคต่าง ๆ เกิดขึ้นมาก จนยากจะควบคุม

ยูเอ็นชี้ 4 โรคน่าห่วงสุด คือโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด และโรคเบาหวาน ได้คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปถึง 36 ล้านคน จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่พบ 57 ล้านคนในแต่ละปี สำหรับอาเซียนพบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 4 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ  60 หรือประมาณ 2.5 ล้านคนเสียชีวิตจาก โรคไม่ติดต่อกลุ่มนี้

ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 - 10 ต.ค. 2555--