ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ในโรงพยาบาลเป็นกระแสที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้ว ด้วยเหตุผลด้านความรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงสามารถแบ่งเบาภาระแก่บุคลากร ทางการแพทย์ได้มาก

ส่วนการใช้หุ่นยนต์ทาง การแพทย์ในโรงพยาบาลของไทยนั้น มีด้วยกันหลายด้าน เช่น หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดโรคหัวใจและผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก ของโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณ และโรงพยาบาลกรุงเทพ รวมถึงหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด และระบบ Laparoscope ที่ถูกนำมาใช้ช่วยในการผ่าตัดที่โรงพยาบาลปิยะเวท ถือเป็นหนึ่งเส้นทางที่ตอกย้ำถึงความพร้อมในการผลักดันให้เมืองไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของการแพทย์ในเอเชีย (Medical Hub) ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้โรงพยาบาลศิริราช ได้เริ่มนำหุ่นยนต์ที่ช่วยใน การผ่าตัดเมื่อ 5 ปีก่อน โดยที่ผ่านมา ได้ทำการผ่าตัดคนไข้ไปแล้วกว่า 1,000 ราย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล่าสุดจึงจัดซื้อหุ่นยนต์ผ่าตัดตัวที่ 2 มาให้บริการเพิ่มเติม ภายใต้งบประมาณ 120 ล้านบาท

หุ่นยนต์ตัวที่ 2 จะผ่าตัดคนไข้ได้ไม่น้อยกว่า ตัวแรก เนื่องจากมีความพิเศษอยู่ที่ชุดควบคุมการผ่า ตัดภายนอกตัวหุ่นยนต์ ซึ่งมีอยู่ 2 ชุด ต่างจากตัวแรกที่มีอยู่ชุดเดียว แต่ลักษณะทั่วไปยังคล้ายกับตัวแรก ประกอบด้วยแขน 4 แขน แต่ละแขนมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 0.5-0.8 เซนติเมตร แขนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นกล้องคุณภาพสูง ช่วยให้มองเห็นภาพเป็น 3 มิติ มี เทคโนโลยีลดการสั่น ไหวของภาพ และมี กำลังขยายถึง 10 เท่า

ส่วนเรื่องราคาหุ่นยนต์ตัวใหม่นี้ยังมีค่าความเสื่อมของแขนกลที่ใช้งานได้เพียง 10 ครั้งบวกกับค่า บำรุงรักษาหลายสิบล้านบาทในแต่ละปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์สูงกว่าการผ่าตัดแบบ ปกติประมาณ 3 เท่าตัว โดยค่าใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ในหลักแสนบาท แต่ก็นับว่ายังถูกกว่าในหลายประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทยมีการนำหุ่นยนต์มาใช้สำหรับการผ่าตัด 6 ตัว โดย 2 ตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช

ด้านโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดกับผู้ป่วยโรคหัวใจ 2 ปีแล้ว แต่ปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์ ที่ก้าวหน้าขึ้นจนสามารถประยุกต์ใช้เครื่องผ่าตัดเดิม มาใช้การผ่าตัดโรค มะเร็งต่อมลูกหมาก จนประสบความสำเร็จไปแล้ว โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2 แสนบาทต่อครั้ง

อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ถือ ว่ายังมีราคาสูงในหลักแสนบาท แม้โรงพยาบาลศิริราช จะระบุว่าผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิรักษาตามหลักประกันสุขภาพได้ ตามวงเงินของประกันสังคมสูงสุดอยู่ที่ 50,000 บาท จึงยังต้องออกค่าส่วนต่างเอง ROBODOCTOR หรือ Remote Presence System จากสหรัฐอเมริกา เป็นเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้การรักษาพยาบาลที่เครือ โรงพยาบาลกรุงเทพนำมาใช้กับผู้ป่วยใน 3 โรงพยาบาลนำร่อง ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ (ซอยศูนย์วิจัย) โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โรงพยาบาลภูเก็ต

เทคโนโลยีนี้ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลทางการแพทย์และมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลายมลรัฐ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา รวมทั้งเอเชีย และยุโรป ประเทศต่างๆ อาทิ จีน อินเดีย ไต้หวัน อังกฤษ ซึ่งจะทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงการรักษาไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายได้ทันท่วงที และมั่นใจถึงความถูกต้อง และแม่นยำในการสื่อสารผ่านระบบ Remote Presence System

สำหรับข้อดีของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ จะช่วย ลดความเสี่ยงต่อการกระทบเส้นประสาทบริเวณข้างเคียง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้อวัยวะแข็งตัวหรืออ่อนตัวได้มากเนื่องจากอุปกรณ์มีขนาดที่เล็กแต่มีกำลังขยายได้ 6-10 เท่า และสามารถมองเห็นภาพ ในแบบ 3 มิติได้ดี เป็นต้น

นอกจากเทคโนโลยีในการรักษาแล้ว หุ่นยนต์ยังถูกนำมาใช้ในงานด้านอื่นๆ ของโรงพยาบาล ทั้งด้าน การบริการและอำนวยความ สะดวกเพื่อลดขั้นตอนต่างๆ

ล่าสุด โรงพยาบาลเวชธานีได้ทุ่มงบกว่า 20 ล้านบาท จัดซื้อหุ่นยนต์จัดยาอัจฉริยะ รุ่น EV 220 หรือ Smart Dispensing Robot EV 220 9 ต่อยอดความสมบูรณ์ระบบสารสนเทศชั้นสูงในโรงพยาบาล ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธุ์ ผู้อำนวยการปฏิบัติการ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า การนำหุ่น ยนต์จัดยาเข้ามาใช้ในครั้งนี้เป็นการเสริมขีดความสามารถของโรงพยาบาลหลังจากที่ได้พัฒนาระบบสารสนเทศในโรงพยาบาลหรือ Healthcare Information Sysyem (HIS) แล้ว

โดยปัจจุบันแพทย์ของโรงพยาบาลสามารถสั่งยาผ่านระบบสารสนเทศไปยังหุ่นยนต์โดยตรง ซึ่งหุ่นยนต์จะจัดยาตามใบสั่ง พร้อมติดฉลากยาและส่งให้เภสัชกรทำหน้าที่อธิบายการใช้ยาแก่ผู้ป่วย กระบวนการนี้นอกจากจะช่วยลดระยะเวลาดำเนินการแล้ว ยังลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากมนุษย์และความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารได้ เช่น ใบสั่งยาไม่ชัดเจน การปนเปื้อนของตัวยาหรือการจัดยาผิดพลาด

 “เทคโนโลยีที่เรานำเข้ามานั้น อยู่ในฐานะของ ผู้ช่วย ไม่ใช่การแทนที่เจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์ โดยตามหลักแล้วหน้าที่จัดยาจะเป็นของผู้ช่วยเภสัชกร ดังนั้นหุ่นยนต์จะช่วยให้เภสัชกรมีเวลาดูแลและพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องยากับผู้ป่วยมากขึ้น” ผศ.นพ. ก่อพงศ์ อธิบาย

ตัวหุ่นยนต์ Smart Dispensing Robot EV 220 เป็นหุ่นยนต์ขนาดกลางสามารถบรรจุยาไว้ในเครื่องได้ 220 ชนิด ซึ่งจะเป็นยาชนิด เม็ดทั้งหมด โดยทางโรงพยาบาลจะสำรองยาเอาไว้สำหรับ 2 วัน ส่วนยาชนิด น้ำหรือครีม จะยังจัดและจ่ายยา โดยเภสัชกรตามปกติ

สำหรับการตอบรับจากผู้ป่วยนั้น ส่วนใหญ่ให้การตอบรับที่ดี เนื่องจากหุ่นยนต์สามารถจัดยาได้ประมาณ 250 รายการต่อชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยทั่วไปใช้เวลารอรับยาเพียง 5-10 นาที เท่านั้น ปัญหาที่พบจะเป็นในด้านการปรับตัวของผู้ป่วยที่ต้อง เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากซองยาเป็นขวดยาเท่านั้น

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีที่จะถึง โรงพยาบาล มีแผนที่จะนำหุ่นยนต์อีกตัวชื่อว่า PROUD มาใช้งานด้านจ่ายยาแก่ผู้ป่วยใน ซึ่งหุ่นยนต์นี้จะช่วยลดภาระของพยาบาลลงได้มาก

 “เราหวังว่าการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้นี้จะเป็นการ กระตุ้นให้โรงพยาบาลอื่นๆ หันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพการบริการ ให้ได้ตามมาตรฐานสากล และลดภาระแก่บุคลากร สำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเป็น Medical Hub ในอนาคต” ผศ.นพ.ก่อพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านการจัดยานอกจากโรงพยาบาลเวชธานีแล้ว ยังมีโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่นำระบบหุ่นยนต์ช่วยจัดยาจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ตั้งแต่ปี 2551 และยังมีโรงพยาบาลลานนา จังหวัดเชียงใหม่ก็มีการจัดยาด้วยหุ่นยนต์เช่นกัน

การดูแลผู้ป่วยเป็นอีกหนึ่งงานที่หุ่นยนต์สามารถเข้ามาแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ได้ โดยสถาบันราชานุกูล สถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้นำหุ่นยนต์แมวน้ำ Paro มาช่วยบำบัดเด็กออทิสติก ในประเทศไทยมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบัน การศึกษาที่เป็นผู้นำการวิจัยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับใช้ทางการแพทย์แห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยทางมหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสาขาจำนวนหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งคาดว่า ในอนาคตจะสามารถช่วยลดจำนวนเม็ดเงินที่ต้องสูญเสียไปในการนำเข้าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์จากต่างประเทศได้

--สยามธุรกิจฉบับวันที่ 6 - 9 ต.ค. 2555--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง