ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายกรัฐมนตรีเปิดสมัชชาแรงงานนอกระบบและกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “หลักประกันชีวิต สิทธิแรงงานนอกระบบ : สุขภาพ สวัสดิการ และงานที่มั่นคง” ระบุแรงงานทุกท่านเป็นส่วนสำคัญ เป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย           

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.55 เวลา 14.30 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดสมัชชาแรงงานนอกระบบและกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “หลักประกันชีวิต สิทธิแรงงานนอกระบบ : สุขภาพ สวัสดิการ และงานที่มั่นคง” จัดโดยเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยมีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน ผู้แทนเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ผู้แทนกลุ่มแรงงานนอกระบบในส่วนภูมิภาคและกรุงเทพฯ ประมาณ 800 คน และสื่อมวลชนเข้าร่วม

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า แรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีจำนวนถึง 24.6 ล้านคน หรือ ร้อยละ 62.6 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด คิดเป็นแรงงานในภาคเกษตร 15.1 ล้านคน (ร้อยละ 61.4) แรงงานในภาคการค้าและการบริการร้อยละ 29.7 แรงงานภาคการผลิต (รวมถึงกลุ่มหัตถกรรมและสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์) ร้อยละ 8.9 และแรงงานที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ 3.2 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด และรองลงมาเป็นภาคเหนือ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของแรงงานนอกระบบ ได้แก่ ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาภาระหนี้สินและรายได้ไม่เพียงพอ เนื่องมาจากความรู้ความเข้ายังไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาและการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ นอกจากนั้น ยังเข้าไม่ถึงสิทธิทางกฎหมาย และนโยบายเพื่อการคุ้มครองแรงและการมีหลักประกันทางสังคม เนื่องจากขาดโอกาสในการรับรู้และเข้าใจในกฎหมายรวมถึงแนวทางปฏิบัติที่มีความซับซ้อน ไม่เอื้อต่อบริบทของแรงงานนอกระบบ

ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพกล่าวต่อไปว่า การจัดงานจัดงานสมัชชาแรงงานนอกระบบ“หลักประกันชีวิต สิทธิแรงงานนอกระบบ: สุขภาพ สวัสดิการ และงานที่มั่นคง” ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบทั้งในส่วนภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร ที่เกิดจากการความร่วมมือหลายฝ่าย และได้นำผลการดำเนินงาน บทเรียนและองค์ความรู้จากลงมือปฏิบัติจริงมาเสนอ แลกเปลี่ยนและสื่อสารกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ให้ขยายครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทยต่อไป พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นเสนอแนะต่อข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มหรือเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มอาชีพต่างๆ สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระดับกลุ่ม ชุมชนหรือเครือข่าย มีการจัดการอาชีพที่ให้ความสำคัญการมีสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน เชื่อมโยงกับการมีสวัสดิการที่เหมาะสมกับวิถีการดำรงชีพและมีความมั่นคงในอนาคต

นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “หลักประกันชีวิต สิทธิแรงงานนอกระบบ : สุขภาพ สวัสดิการ และงานที่มั่นคง”ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานทุกท่าน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ เป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย มุ่งทำงานให้เกิดความคุ้มครองผู้ใช้แรงงานตามหลักกฎหมาย มีความปลอดภัยในการทำงาน และขยายความคุ้มครองให้แรงงานนอกระบบได้รับสวัสดิการตามสิทธิที่ควรได้รับ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการเห็นการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆ แก้ไขปัญหาของแรงงานนอกระบบอย่างบูรณาการ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานนอกระบบทุกคน ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่เป็นรากฐานสำคัญของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานนอกระบบ เป็นแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และเป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้

1.การจัดระบบบริการสุขภาพสำหรับแรงงานนอกระบบภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ขยายการบริการสุขภาพให้ครอบคลุมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2553 เน้นการจัดบริการเชิงรุกให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างทั่วถึง

2.ส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงานให้มีงานทำมีรายได้อย่างต่อเนื่องเพื่อสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างพอเพียง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมความมั่นคงในอาชีพและรายได้โดยบูรณาการองค์ความรู้ งบประมาณ และบุคลากรร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งระบบนำไปสู่แรงงานที่มีคุณภาพต่อไป โดยรัฐบาลจะจัดหาช่องทางการตลาดเพื่อส่งเสริมรายได้อย่างยั่งยืน

3.จัดทำหลักประกันชราภาพเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต่อไปในอนาคตข้างหน้า โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ร่วมปรึกษาหารือเพื่อทบทวนแนวทางการพัฒนาระบบการสร้างหลักประกันให้กับแรงงานนอกระบบ อำนวยต่อการเข้าถึงสิทธิและบริการที่สะดวกรวดเร็วไม่เป็นภาระกับผู้ใช้แรงงานนอกระบบมากเกินไปรวมไปถึงเรื่องการจ่ายเงินสมทบร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้มีหลักประกันรายได้ช่วงวัยเกษียณการทำงาน

4.กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานแรงงานนอกระบบ โดยเร่งพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติโดยเร็วเพื่อกำหนดนโยบายการดำเนินงาน รวมไปถึงการกำกับ ติดตามแผนงานตามนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงการบูรณาการสิทธิประโยชน์กองทุนต่างๆ ให้ผู้ใช้แรงงานได้เข้าถึงและได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เช่น โครงการ SML กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นต้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามนโยบายหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากทิศทางและรูปธรรมการดำเนินงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานนอกระบบ รัฐบาลได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยการพัฒนาแรงงานกึ่งฝีมือให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือทั้งระบบ เพื่อให้ได้รับค่าแรงและผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานมากขึ้น โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนแรงงานนอกระบบให้สามารถเลือกงานมีงานทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมด้านรายได้ พร้อมรับฟังปัญหาจากภาคส่วนต่างๆ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้ทำพิธีเปิดงานโดยการวางหัวใจลงบนแท่นบนเวทีที่เตรียมไว้ เพื่อเปิดงานสมัชชาแรงงานนอกระบบอย่างเป็นทางการ พร้อมร่วมยืนยันเจตนารมณ์ “หลักประกันชีวิต สิทธิแรงงานนอกระบบ : สุขภาพ สวัสดิการ และงานที่มั่นคง”ร่วมกับเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ก่อนร่วมถ่ายภาพกับคณะผู้จัดงาน

ที่มา : กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก