ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ในอดีต...การรักษาโรคมี "หมอพื้นบ้าน" เป็นผู้ถ่ายศาสตร์ในการรักษาซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่สังคมไทยมานับร้อยๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นยาต้ม หรือการนวดรักษา กระทั่งเมื่อความเจริญของการแพทย์แผนตะวันตกได้ขยายเข้ามา ทำให้การแพทย์ไทยถูกกลืนกินไปอย่างน่าเสียดาย...

แต่วันนี้...กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้นำศาสตร์การแพทย์แผนไทยกลับมาใหม่ โดยสนับสนุนให้เป็นอีกการรักษาทางเลือกควบคู่ไปกับการรักษาแนวตะวันตก ซึ่งมีโรงพยาบาลนำร่อง 9 แห่ง คือ รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่, รพ.เทิง จ.เชียงราย, รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี, รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี, รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, รพ.วังน้ำเย็น รพ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว, รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ และ รพ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี

และล่าสุดอยู่ระหว่างก่อตั้ง รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็น รพ.การแพทย์แผนไทยฯ เต็มรูปแบบแห่งแรกของกรุงเทพฯ เพราะมีทั้งให้บริการรักษาและพัฒนาวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับสมุนไพร โดยมีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้

รพ.การแพทย์แผนไทยฯ ตั้งอยู่ในที่ดินบริจาคของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เนื้อที่ราว 3 ไร่ ใช้งบประมาณกว่า 7.2 ล้านบาท ทำการปรับปรุงอาคารเก่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นโรงพยาบาล จะเน้นการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นหลัก ผสมผสานกับการแพทย์แผนตะวันตก เรียกว่าเป็นการรักษาหลายศาสตร์อย่างครบวงจร

นพ.วัฒนะ พันธุ์ม่วง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน บอกว่า กรุงเทพฯ ยังไม่มีโรงพยาบาลทางเลือกในลักษณะนี้อย่างเต็มรูปแบบ จึงหวังว่าเมื่อโรงพยาบาลเปิดบริการแล้วจะเป็นทางเลือกในการรักษาโรคของประชาชน และยังเป็นการสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทย ซึ่งถือเป็นทรัพยากรหลักของไทยด้วย

โรงพยาบาลแห่งนี้จะรวมสมุนไพรในการรักษาโรคถึง 110 รายการ มีห้องควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษายาสมุนไพรอย่างดี จึงไม่ต้องกังวลว่าจะส่งผลต่อฤทธิ์ของยาแต่อย่างใด อีกทั้งยังนำเข้าเครื่องต้มยาระบบแรงดันสูงจากจีน 2 เครื่อง สำหรับต้มยาให้คนไข้วันละ 20 ราย

"โรงพยาบาลแห่งนี้จะเป็นโรงพยาบาลต้นแบบในการรักษาแบบผสมผสาน ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก มีบุคลากรกว่า 30 คน แต่หลักๆ จะมีแพทย์แผนปัจจุบัน 1 คน แพทย์แผนไทย 1 คน และแพทย์แผนจีน แพทย์ทางเลือกอีก 1-2 คน มีแผนกผู้ป่วยทั่วไป โดยแพทย์แผนปัจจุบันตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น หากต้องรักษาด้วยแพทย์แผนไทยจะมีการจ่ายยาทั้งยาสูตรตำรับและสูตรเดี่ยว หากคนไข้ต้องการนำยาไปต้มเองก็ได้ หรือจะให้โรงพยาบาลต้มให้ก็ได้ เพื่อความสะอาดถูกหลักอนามัย ส่วนชั้น 2 เป็นแผนกคนไข้ในมีเตียง 10 เตียง นอกจากนี้ ยังมีคลินิกเฉพาะทาง โดยผู้ที่นิยมแพทย์แผนจีนมีบริการฝังเข็มบำบัดโรคต่างๆ หรือเชิญแพทย์พื้นบ้านไปให้บริการในบางวันหมุนเวียนทุกสัปดาห์ เช่น การนวดยำข่าง เป็นต้น" นพ.วัฒนะกล่าว นอกจากนี้ยังมีการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น โฮมีโอ พาที (Homeo Pathy) เป็นการรักษาแบบ "พิษบ่มพิษ" ซึ่งเป็นศาสตร์ทางยุโรป มีเยอรมนีเป็นแม่แบบ และไทยมีแพทย์ทางเลือกด้านนี้ราว 30 คน ซึ่งวิธีนี้ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในสถาบันที่ได้รับการยอมรับเท่านั้น อีกทั้งยังมีแพทย์กดจุดบำบัด นวดจัดกระดูก หมุนเวียนกันให้บริการทุกวัน

นพ.วัฒนะบอกอีกว่า โรงพยาบาลได้จัดคลินิกเฉพาะทางสำหรับคนวัยทำงาน เรียกว่า "คลินิกโรคสำนักงาน" ซึ่งเกิดจากการนั่งทำงานนานๆ หน้าคอมพิวเตอร์ ก่อให้เกิดอาการปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดเมื่อยตัว รวมไปถึงภาวะเครียด คลินิกนี้จะให้บริการนวดแผนไทย บำบัดรักษาโดยไม่ต้องกินยาแก้ปวด "คลินิกนิ้วล็อก" สำหรับรักษาผู้มีปัญหาเหยียดนิ้วออกหรืองอเข้าไม่ได้ และจะมีอาการปวดข้อนิ้วมากในช่วงเช้า ซึ่งจะพบมากในแม่บ้าน คนจับเมาส์ นักกีฬายิงปืน เป็นต้น

แม้ขณะนี้ภาพของโรงพยาบาลอาจยังไม่เด่นชัด แต่ความหวังในการรักษาด้วยศาสตร์แบบผสมผสานแห่งแรกของกรุงเทพฯ เริ่มเกิดขึ้น ท่ามกลางความหวังของผู้ป่วยทุกคน...

--มติชน ฉบับวันที่ 8 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--