ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เผยต้นทุนให้บริการ รพ.สังกัด สป.สธ.ผู้ป่วยนอก รพช.เฉลี่ย 479.21 บาทต่อครั้ง รพท.754.27 บาทต่อครั้ง รพศ.1,154.79 บาทต่อครั้ง ผู้ป่วยใน รพช.เฉลี่ย 9,508.55 บาทต่ออาร์ดับเบิลยู ขณะที่ รพท.12,605.20 บาทต่ออาร์ดับเบิลยู รพศ.10,120.71 บาทต่ออาร์ดับเบิลยู ภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากค่าแรงในรพช. ชี้อาจเป็นปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในอนาคต

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง "การศึกษาต้นทุนในการให้บริการของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขปี 2553-2554" ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2555 ว่าการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนในการให้บริการต่อหน่วยของโรงพยาบาลแต่ละระดับ ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ทำการรวบรวมข้อมูลต้นทุนการให้บริการของโรงพยาบาลในสังกัด สป.สธ.ในปีงบประมาณ 2553-2554 โดยโรงพยาบาลได้ศึกษาต้นทุนโดยอาศัย Charge-Cost ratio เป็นตัวกำหนดต้นทุนผู้ป่วยรายบุคคล สป.สธ.ได้จัดอบรมให้แก่โรงพยาบาลในสังกัด สป.สธ. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

วิธีการศึกษาด้วยการรวบรวมผลการศึกษาต้นทุนจากโรงพยาบาลที่มีการศึกษาแล้วเสร็จและนำมาวิเคราะห์ทางสถิติ ซึ่งสามารถรวบรวมข้อมูลผลการศึกษาต้นทุนได้ 94 โรงพยาบาลจาก 840 โรงพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 11.19 แบ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 81 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 9 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) 4 แห่ง ข้อมูลผ่านการตรวจสอบ 79 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ หรือร้อยละ 74.26 ของโรงพยาบาลที่รวบรวมข้อมูลได้ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ต้นทุนเฉลี่ยในการให้บริการผู้ป่วยนอกของ รพช.เป็น 479.21 บาท ต่อครั้ง รพท.เป็น 754.27 บาทต่อครั้ง รพศ.เป็น 1,154.79 บาทต่อครั้ง ต้นทุนเฉลี่ยในการให้บริการผู้ป่วยในของรพช.เป็น 9,508.55 บาท ต่อหน่วยความยากง่ายต่อการดูแล (อาร์ดับเบิลยู) รพท.เป็น 12,605.20 บาทต่ออาร์ดับเบิลยู รพศ.เป็น 10,120.71 บาทต่ออาร์ดับเบิลยู

"ผลจากการศึกษานี้ส่วนหนึ่งทำให้ทราบว่าต้นทุนในการให้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของค่าแรงใน รพช.ที่มีการเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก ไม่ได้สูงที่ค่าวัสดุอุปกรณ์เหมือนในอดีต ซึ่งแนวโน้มนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขในอนาคต จึงต้องมีการบริหารจัดการเรื่องค่าตอบแทน" นพ.ขวัญประชากล่าว

นพ.ขวัญประชา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีศักยภาพในการศึกษาต้นทุนโรงพยาบาลและมีการเก็บข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจต้องพัฒนามาตรฐานของข้อมูล เพื่อให้มีความถูกต้องและสามารถเปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลได้มากยิ่งขึ้น

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 8 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--