ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สปสช.ชี้ผู้ประกันตนป่วยเอชไอวี/เอดส์-ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เปลี่ยนสิทธิฉลุยหากเลือก รพ.รัฐ ย้ำเลือก รพ.เอกชนไม่ได้เพราะไม่ใช่คู่สัญญา แถมต้องขอข้อมูลการแพทย์ไปติดต่อที่ใหม่เอง เหตุไร้ระบบออนไลน์ ติดกฎหมายความลับผู้ป่วย

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสาธารณสุขใน 3 กองทุนสุขภาพของรัฐ โดยขยายการรักษาที่เท่าเทียมไปยังกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีการประชุมชี้แจงการสร้างความเป็นเอกภาพ และบูรณาการสิทธิประโยชน์ให้แก่สถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ทั้งนี้ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มที่ต้องเปลี่ยนสิทธิการรักษาต้องดำเนินการแบ่งเป็น 6 กรณี คือ 1.จากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เป็นประกันสังคม ผู้ประกันตนจะได้สิทธิหลังจ่ายเงินสมทบครบ 90 วัน ผู้ป่วยเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญา และโรงพยาบาลที่จะรักษาอาจเป็นคนละโรงพยาบาลก็ได้ 2.จากสิทธิประกันสังคมเป็นสิทธิบัตรทอง ผู้ประกันตนยังคงสิทธิหลังออกจากงาน 180 วัน ผู้ป่วยเลือกลงทะเบียนหน่วยบริการประจำ และเลือกโรงพยาบาลที่จะรักษาอาจเป็นคนละโรงพยาบาลก็ได้ 3.จากสิทธิบัตรทองเป็นสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ได้รับสิทธินับจากวันบรรจุ โดยจะไม่มีระบบลงทะเบียน ผู้ป่วยต้องติดต่อโรงพยาบาลของรัฐที่สะดวกเข้ารับการรักษา 4.จากสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ เป็นสิทธิบัตรทอง ได้รับสิทธิบัตรทองทันทีหลังจากสิ้นสุดสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ผู้ป่วยเลือกลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและเลือกโรงพยาบาลที่จะรักษาอาจเป็นคนละโรงพยาบาล 5.จากสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจเป็นสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนได้สิทธิหลังจ่ายเงินสมทบครบ 90 วัน และเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญาและโรงพยาบาลรักษาที่อาจจะเป็นคนละแห่งก็ได้ และ 6.จากสิทธิประกันสังคมเป็นสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ผู้ประกันตนยังคงสิทธิหลังออกจากงาน 180 วัน ไม่มีระบบลงทะเบียนให้ผู้ป่วยติดต่อเลือกโรงพยาบาลของรัฐที่สะดวกเข้ารับการรักษา

"ทั้ง 6 กรณี ผู้ป่วยสามารถเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญาแตกต่างจากโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้เฉพาะที่เป็นโรงพยาบาลรัฐบาลเท่านั้น และในการย้ายโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องแสดงความจำนงแก่ผู้ประสานของโรงพยาบาลเดิม เพื่อขอข้อมูลทางการแพทย์ไปให้โรงพยาบาลใหม่ เนื่องจากไม่มีระบบออนไลน์ เพราะข้อมูลของผู้ป่วยจะต้องเป็นความลับตามที่กฎหมายกำหนด" นพ.พีรพลกล่าว

นางสุพัชรี มีครุฑ ผู้ตรวจราชการ สปส. กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตน ทั้งที่เป็นผู้ประกันตนเดิม และผู้ที่เปลี่ยนจากสิทธิอื่นไปเข้าประกันสังคม หากเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญาเป็นโรงพยาบาลเอกชน จะไม่สามารถเลือกโรงพยาบาลรักษาเป็นโรงพยาบาลอื่นได้ ต้องรักษากับโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาที่ระบุในบัตรประกันสังคมเท่านั้น เนื่องจากระบบของ สปส.จะทำสัญญากับโรงพยาบาลคู่สัญญาเท่านั้น แต่หากเป็นผู้ประกันตนที่โรงพยาบาลตามบัตรเป็นโรงพยาบาลสังกัด สธ. จะได้รับการอนุโลมให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลสังกัด สธ.อื่น ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลตามบัตรได้ แต่ต้องอยู่ภายในโรงพยาบาลเดียวกัน

"สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยทั้งสิทธิประกันสังคมและสิทธิบัตรทอง เห็นว่ามีความแตกต่างแค่ในส่วนของเงินที่จ่ายเท่านั้น เช่น กรณีการตรวจซีดีโฟร์ (CD4) ผู้ป่วยเอดส์ สปส.จ่าย 500 บาทต่อการตรวจรู้ผล ขณะที่ สปสช.จ่าย 400 บาท หรือการตรวจปริมาณไวรัสในร่างกายที่ สปส.จ่าย 2,500 บาทต่อการตรวจรู้ผล ส่วน สปสช.จ่ายชดเชยเป็นน้ำยา 1.1 เท่า พร้อมค่าบริหารจัดการ 250 บาท เป็นต้น ซึ่งในอนาคต สปส.จะพยายามให้ได้มาตรฐานเดียวกัน" นางสุพัชรีกล่าว

ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 9 ตุลาคม 2555