ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สมาพันธ์แพทย์ฯ หนุน แยกดีอาร์จี รร.แพทย์-รพ.ตติยภูมิ แนะแบ่งระดับการจ่ายค่าอาร์ดับบลิวแทน เดินตามระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบุเคยนำเสนอต่อ สปสช.แล้ว แต่ขอใช้เวลาศึกษาก่อน 2 ปี ด้าน “หมอวินัย” ขอเวลาสอบถามข้อมูลจาก รร.แพทย์โดยตรง ยันควรคิดคำนวณค่ารักษา รพ.ทุกแห่งเหมือนกัน ส่วนโรคซับซ้อนมีแยกการจ่ายอยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2555 พญ.ปรชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวถึงกรณีที่ทางคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเสนอให้มีการแยกการคำนวณกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diseases Related Group : DRG) ผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลระดับตติยภูมิกับโรงพยาบาลทั่วไป ว่า เห็นด้วยและควรที่จะมีการแยกการคิดคำนวณดีอาร์จีนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้ เนื่องจากต้องยอมรับว่าในการรักษาผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลระดับตติยภูมิมีความแตกต่างกันอย่างมาก รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา จึงจะใช้หลักเกณฑ์คิดคำนวณค่าใช้จ่ายเดียวกันไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่รักษาผู้ป่วยซับซ้อนต้องแบกรับภาระ และหากเป็นไปได้ควรที่จะมีการกำหนดค่าดีอาร์จี โดยแบ่งเป็นระดับของโรงพยาบาล คือ 1.โรงพยาบาลอำเภอขนาดเล็ก 2.โรงพยาบาลอำเภอขนาดใหญ่ 3.โรงพยาบาลทั่วไป 4.โรงพยาบาลจังหวัด และ 5.โรงพยาบาลศูนย์และโรงเรียนแพทย์ ซึ่งจะเป็นการคิดคำนวณบนพื้นฐานการรักษาที่เป็นจริง

 “ที่ผ่านมาการกำหนดดีอาร์จีจะแบ่งเป็นน้ำหนักกลุ่มโรค และใช้คิดคำนวณเหมือนกันหมดทุกโรงพยาบาล ทั้งที่ความเป็นจริง แม้เป็นการรักษาโรคเดียวกัน โรงพยาบาลต่างระดับก็จะให้การรักษาที่แตกต่าง โดยโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่จะรักษาเบื้องต้นและส่งให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่รักษาต่อ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการักษาที่มากกว่าเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่รับส่งต่อมา แต่เมื่อทำการเบิกจ่ายตามโรคกลับได้ค่ารักษาที่เท่ากัน จึงเป็นการคำนวณที่ไม่อยู่บนพื้นฐานต้นทุนการรักษาที่แท้จริงของโรงพยาบาล” ประธานสมาพันธ์แพทย์ฯ กล่าว

พญ.ประชุมพรกล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาพันธ์แพทย์ฯ ได้เคยนำเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว ซึ่งทาง สปสช.บอกว่าต้องทำการศึกษาก่อน อย่างน้อยใช้เวลา 2 ปี ดังนั้น เราจึงเสนอให้มีการปรับค่าเฉลี่ยของเม็ดเงินเพื่อคิดคำนวณค่ารักษาแทน (ค่า RW : Relative weight) โดยแบ่งไปตามระดับของโรงพยาบาลเช่นกัน หากเป็นกรณีนี้จะสามารถทำได้ทันที โดยใช้หลักเกณฑ์ค่าอาร์ดับบลิวของระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นต้นแบบก็ได้ นอกจากนี้ ขอให้แก้ไขดีอาร์จีฉบับที่ 5 ที่ไม่เพียงแต่เป็นการคิดคำนวณ ทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินน้อยลง แต่ยังส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วย เพราะในกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจะมีปัญหาในการเบิกจ่ายอย่างมาก อีกทั้งยังมีแนวโน้มทำให้การรักษาไม่เดินออกนอกแนวทางอย่างที่ควรจะเป็นในกรณีที่โรงพยาบาลอยากได้ค่ารักษาเพิ่มเพื่อเบิกจ่าย

พญ.ประชุมพรกล่าวว่า ในวันที่ 11 ตุลาคม 2555 นี้ ทางสมาพันธ์แพทย์ฯ จะเข้าพบ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.คนใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีการพูดคุยถึงปัญหาข้างต้นนี้แล้ว จะขอความชัดเจนเรื่องการเบิกจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน ซึ่งปลัด สธ.คนเดิมยังไม่มีคำสั่งที่ชัดเจนนี้ เพียงแต่บอกว่าหากโรงพยาบาลใดพร้อมให้เสนอเรื่องเข้ามาเท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมาผู้บริหารโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังไม่กล้าจ่ายค่าตอบแทนโดยใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลที่มีอยู่ เพราะเกรงว่าอาจถูกเรียกเก็บย้อนหลังได้หากไม่มีหนังสือคำสั่งที่เป็นทางการจากผู้บริหารส่วนกลาง

 “ยอมรับว่าปัญหาการจ่ายค่าตอบแทนแพทย์มีปัญหาอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาก่อนปลัดคนเดิมจะเกษียณอายุราชการลง ได้มีการทำเรื่องเสนอของบเพื่อนำมาจ่ายค่าตอบแทนนี้จาก ครม. จำนวน 3,000 ล้านบาท ขณะนี้ไม่ทราบว่าดำเนินการไม่ถึงไปถึงไหน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเสนอให้ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาล แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถนำมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนได้ทั้งหมด เพราะต้องกระจายเงินไปจ่ายในส่วนอื่นด้วย ดังนั้นจึงต้องของบประมาณจากภาครัฐเข้ามาดูแล” ประธานสมาพันธ์แพทย์ฯ กล่าว

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ทางโรงเรียนแพทย์ยังไม่ได้นำเสนอเรื่องเข้ามายัง สปสช. จึงต้องขอดูรายละเอียดก่อน แต่ส่วนตัวคิดว่าในการคิดคำนวณดีอาร์จีควรใช้หลักเกณฑ์การคิดเดียวกัน เพราะเป็นการรักษาโรคเหมือนกัน ส่วนโรคซับซ้อนทาง สปสช.ก็มีการแยกคิดให้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวตนคงต้องสอบถามรายละเอียดจากทางโรงเรียนแพทย์โดยตรง

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 9 ตุลาคม 2555