ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"สมาคมข้าราชการอาวุโส" คัดค้านมาตรการคลังคุมยาข้าราชการชี้หลังบังคับใช้1ต.ค.กระทบผู้ป่วยรักษาไม่ต่อเนื่อง"วิทยา" จี้กรมบัญชีกลางทบทวนมาตรการคุมค่ารักษา ขรก. 1 โรงพยาบาล 1 โรคเรื้อรัง หวั่นทำผู้ป่วยกระจุกรักษา รพ.ใหญ่ พร้อมสั่งเดินหน้าใช้ยาสามัญในรพ.เพิ่มอีก 10% หวังลดค่ายา5พันล้านบาท  หลังกระทรวงการคลังทำหนังสือออกมาตรการคุมการจ่ายยาข้าราชการ

วานนี้ (10 ต.ค.)พล.ต.หญิง พูลศรี เปาวรัตน์ ผู้ประสานงานชมรมผู้พิทักษ์สิทธิข้าราชการและกรรมการบริหารสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการการควบคุมค่าใช้จ่ายโดยการยกเลิกการสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่กระทรวงการคลังออกมานั้น เห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องจึงเดินเข้ายื่นหนังสือต่อ นายวิทยา แก้วภราดัย กรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฏร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องขอให้ทบทวนการออกระเบียบการเบิกจ่ายยาใหม่ โดยให้มีการเสวนา หรือประชุมร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการหารือในวันที่ 18 ต.ค.นี้

พล.ต.หญิง พูลศรี กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.หลังมาตรการดังกล่าวออกมา โรงพยาบาลหรือแพทย์ที่รักษาไม่สามารถสั่งจ่ายยาตามคำวินิจฉัยโรคได้ เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งข้าราชการบางคนที่เคยใช้ยานอกบัญชียาหลักอยู่ไม่สามารถกลับมาให้ยาในบัญชีได้ก็ต้องจ่ายเงินเองเพราะไม่สามารถเบิกได้ ทำให้ไม่สามารถรักษาโรคนั้นได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้การแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือชมรมฯ อยากให้มีการเพิ่มยาในบัญชียาหลักมากขึ้น เพื่อให้แพทย์มีทางเลือกที่จะจ่ายยาให้ประชาชนมากขึ้น

พล.ต.หญิง พูลศรี กล่าวต่ออีกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงข้ออ้างเรื่องการใช้ยาไม่เหมาะสมกับคนไทยคือยากลูโคซามีนซัลเฟต ที่กระทรวงการคลังตั้งธงเอาไว้ในใจแล้ว ในขณะที่ความเห็นของแพทยสภาว่าซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นกลาง และแพทย์ทางโรคกระดูกและข้อก็เห็นว่ายานี้มีประโยชน์

"กระทรวงการคลังบอกข้อมูลไม่หมด ว่ายาตัวนี้อาจจะมีประโยชน์กับคน 80 คน และอาจจะไม่มีประโยชน์กับคนเพียง 5 คน แต่กลับเอา 5 คนนี้ขึ้นมายกตัวอย่าง คล้ายกับเป็นการอ้างว่าการสั่งจ่ายยาไม่สมเหตุสมผล แต่เรื่องการจ่ายยาไม่สมเหตุผลนี้ต้องลงโทษหมอ ไม่ใช่ลงโทษคนไข้ " ผู้ประสานงานชมรมผู้พิทักษ์สิทธิข้าราชการ กล่าว

กรมบัญชีกลางเปิดช่องเบิกได้

นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง คุมเข้มการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และให้เบิกจ่ายตามเงื่อนไขยกเว้น 5 ข้อว่า เป็นเพียงการขอความร่วมมือของกรมบัญชีกลางเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยขอให้แพทย์เลือกใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติรักษาผู้ป่วยเป็นรายการแรกก่อน และหากรักษาไม่ได้ผลจึงให้ใช้ยานอกบัญชีได้

ทางกรมบัญชีกลางได้เปิดช่องไว้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและลดการใช้ยาที่ฟุ่มเฟื่อย ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ มองภาพรวมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี หลักการดีที่ทุกคนยอมรับ อีกทั้งยาในบัญชียาหลักแห่งชาติถือเป็นยาที่มีมาตรฐานและจะไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วย โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเลือกใช้ยา

เผยเกณฑ์ใหม่ขั้นตอนมากขึ้น

นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าการออกหลักเกณฑ์ใหม่ในการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ต้องมีขั้นตอนในเอกสารมากขึ้น การเบิกจ่ายมีความยุ่งยาก เรื่องนี้ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีอยู่ระหว่างการหารือกับทางกรมบัญชีกลางเพื่อขอให้ลดขั้นตอนการเบิกจ่ายและชี้แจงทางเอกสารลงเพื่ออำนวยความสะดวก

"โรงพยาบาลรามาธิบดี เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ส่วนใหญ่ดูแลรักษาโรคยากๆ ทำให้มีการใช้ยานอกบัญชียาหลักมาก แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยาบาลควบคุม ซึ่งการใช้ยาของโรงพยาบาลขณะนี้ เป็นสัดส่วนยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ 30-40% ที่เหลือเป็นการใช้ยานอกบัญชี" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี

ส่วนที่มีข้อเสนอให้มีการแยกบัญชียาหลักระหว่างกลุ่มโรงพยาบาลตติยภูมิกับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปนั้น ถือว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ เพราะโรงพยาบาลตติยภูมิเป็นโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยรับส่งต่อ โรคยาก การรักษาจึงซับซ้อน ดังนั้นจะใช้ยาเฉพาะในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งหมดคงไม่ได้ จึงควรมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น

สธ.ค้าน 1 รพ. 1 โรคเรื้อรัง

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ว่า ในวันนี้ที่ประชุมมีมติขอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทบทวนการลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอกกับสถานพยาบาลของทางราชการกรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่กำหนดให้ผู้ป่วยลงทะเบียนรักษาในโรงพยาบาล 1 แห่งต่อ 1 โรคเรื้อรัง หรือโรคเรื้อรังทั้งหมด เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยกระจุกตัวรักษาในโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งขัดต่อแนวทางการบริการของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ให้ไปรักษายังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ซึ่งทางผู้กรมบัญชีรับไปทบทวน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม โดยขอให้มีการเดินหน้าใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มมากขึ้นอีก 10% ไม่แต่เฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่รวมถึงโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดทหาร โรงพยาบาลสังกัด กทม. เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังให้เดินหน้ามาตรการต่อรองราคายามากขึ้น ทั้งนี้คาดว่ามาตรการต่างๆ จะช่วยควบคุมและลดค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

เตรียมทำหนังสือท้วงคลัง

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การออกระเบียบห้ามเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักนั้นเป็นเรื่องของกรมบัญชีกลาง แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องคุยกับโรงพยาบาลสังกัดให้รับทราบและปรับมาตรการพร้อมกันนี้ยังได้ส่งหนังสือท้วงติงไปยังกรมบัญชีกลางเรื่องกำหนดให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังแจ้งใช้สิทธิที่โรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งเพียงโรงพยาบาลเดียว ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากก่อให้เกิดผลกระทบ แต่อยากให้เป็นไปตามระดับของโรคมากกว่า ทั้งนี้ผู้ป่วยในระบบข้าราชการที่มาใช้สิทธิที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีไม่มาก เพราะฉะนั้นส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายที่ได้จากการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติของโรงพยาบาลสังกัด กระทรวงสาธารณสุขจึงมีเพียง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือประมาณ2 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการติดบาร์โค้ดยาว่า เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลแต่ละแห่งต่างใช้รหัสของตัวเอง ดังนั้นคงจะดำเนินการให้ยาใช้รหัสเดียวกันเป็นสากลเหมือนต่างประเทศ โดยเริ่มนำร่องในยา 8 กลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูงก่อน คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 3 เดือน

แพทยสภาตามผลกระทบหลังคุม

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ. อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่าโดยหลักการเห็นด้วยเพราะการใช้ยาในระบบสวัสดิการข้าราชการที่ผ่านมาอาจยังขาดความรัดกุม โดยเฉพาะกระบวนการเบิกจ่าย แต่หลายฝ่ายกังวลว่ามาตรการดังกล่าวอาจเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วย เพราะการรักษาแต่ละรายถือเป็นศิลปะ มีวิธีแตกต่างกันดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขจำกัดการใช้ยาดังกล่าวเพื่อลดค่าใช้จ่าย ในทางการแพทย์ ยากที่จะบอกได้ว่าจะส่งผลดี-ผลเสียต่อผู้ป่วยแพทยสภาในฐานะผู้ดูแลมาตรฐานการรักษา มีหน้าที่ต้องติดตามผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนยาที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยข้าราชการในกลุ่มโรคที่ได้รับผลกระทบ หลังจากประกาศนี้เริ่มใช้ต่อไป  นอกจากนี้ข้อน่ากังวลคือช่วงเวลากรมบัญชีกลางให้ในการเตรียมตัวจากประกาศถึงเริ่มใช้เพียง 1 สัปดาห์ และเริ่มมีผลบังคับเบิกจ่ายตามระบบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 หลังวันประกาศคือ 24 กันยายน 2555 ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอในการประชาสัมพันธ์ ให้มีการเตรียมตัว

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาระบบสวัสดิการข้าราชการของกระทรวงการคลัง เห็นพ้องว่าควรจะมีมาตรการจำกัดการเบิกค่ายานอกบัญชีหลัก ส่วนกลูโคซามีน นั้นที่ผ่านมาได้ให้เวลาราชวิทยาลัยแพทย์ ในการหาองค์ความรู้และผลงานวิจัยมายืนยันแต่เวลาผ่านมา 1 ปี 3เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีคำตอบประกอบกับมีการนำเข้ายาดังกล่าวปีละ 1 พันล้านบาท จึงจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อคุมค่าใช้จ่ายคลังแจงต้องคุมค่าใช้จ่าย

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 ตุลาคม 2555