ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

บิ๊กล็อต "รพ.กรุงเทพ" โผล่กว่า 17% ราคาเฉลี่ย 104.5 บาท/หุ้น รวมมูลค่า 2.56 หมื่นล้านบาท ด้าน "สาธิต วิทยากร" ยันไม่ได้ขัดแย้งกลุ่มปราเสริฐ ระบุขายหุ้นออกทั้งหมดเป็นเรื่องธุรกิจและการลงทุน  มั่นใจไม่กระทบภาพลักษณ์โรงพยาบาล ขณะที่วงการธุรกิจ รพ. ชี้ "หมอพงษ์ศักดิ์" ทิ้งหุ้นเกลี้ยงปมปัญหาภายในระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ คาดส่วนใหญ่ขายผู้ถือหุ้นเดิม ด้านโบรกเกอร์ชี้ไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจ มีโอกาสที่หมอพงษ์ศักดิ์จะเข้าลงทุนในรพ.ขนาดเล็ก

นายสาธิต วิทยากร ผู้ช่วยกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) ซึ่งเป็นผู้บริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงสาเหตุการขายหุ้นโรงพยาบาลกรุงเทพ ว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกับกลุ่มผู้บริหาร แต่เป็นเรื่องการลงทุนโดยทั่วไปในแบบที่ซื้อมาขายไปในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น เมื่อนำหุ้นกระจายขายในตลาดทั้งหมดกลุ่มนักลงทุนที่สนใจเข้ามาซื้อตามปกติ จึงไม่แน่ใจว่ามีกลุ่มทุนไหนซื้อขายไปบ้าง

รอยเตอร์ระบุก่อนหน้านี้ว่า ผู้ถือหุ้นบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจะขายหุ้นรวม 212.2 ล้านหุ้น หรือ 13.7%  ซึ่งรวมถึงหุ้นนายสาธิตสัดส่วน 9.95% และนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร รองประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ สัดส่วน 0.88% ด้วย

"ผมและนพ.พงษ์ศักดิ์ ไม่ได้มีความขัดแย้งกับผู้บริหารกลุ่มเดิม แต่การขายหุ้นเป็นเรื่องธุรกิจและการลงทุน ส่วนสถานะวันนี้ก็เป็นเพียงพนักงานของโรงพยาบาลที่รับเงินเดือนทั่วไปก่อน ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคือทำงานที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เหมือนพนักงานทั่วไปแล้วแต่ผู้บริหารสั่งให้ทำอะไร"

ส่วนในอนาคตจะดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลต่อหรือไม่นั้น นายสาธิต กล่าวว่า เป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจอื่นใดต่อหรือไม่ เพราะยังไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่านี้ตอนนี้ยังคงทำงานที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ส่วน นพ.พงษ์ศักดิ์ ก็ยังคงทำหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษาของบริษัทอยู่ ณ วันนี้ ส่วนในอนาคตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

"ยืนยันว่าการขายหุ้นเป็นเรื่องธุรกิจไม่ได้ ขัดแย้งกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ส่วนการขายหุ้นออกไปทั้งหมดคาดคงไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลกรุงเทพ เพราะมีผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ เข้ามา และคิดว่าทางโรงพยาบาลคงจะมีการชี้แจงในเรื่องนี้ต่อไป" นายสาธิต กล่าว

ส่วนเมื่อวานนี้ (10 ต.ค.) มีรายการการซื้อขายหุ้นบนกระดานรายใหญ่ (บิ๊กล็อต) หุ้นบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ 25 รายการ รวมประมาณ 245.36 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 104.5 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 2.56 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หุ้นกรุงเทพดุสิตเวชการ ในกระดานหลักและกระดานต่างประเทศ (BGH และ BGH-F ที่ทำรายการบิ๊กล็อตรวม 264,544,932 หุ้น หรือ 17.12% ของทุนชำระแล้วที่มี 1,545.46 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท ขณะที่หุ้นกรุงเทพดุสิตเวชการปิดตลาดร่วง 4.57% มาอยู่ที่ 104.50 บาท ลดลง 5 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,668.18 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจโรงพยาบาล เปิดเผยว่า การขายหุ้นรพ.กรุงเทพฯ ของนพ.พงษ์ศักดิ์ และ นายสาธิต ลูกชาย คงเป็นการปรับโครงสร้าง ผู้ถือหุ้นภายในบริษัท โดย นพ.พงษ์ศักดิ์ คงอยากวางมือ หลังจากที่มีปัญหาภายในกันเองระหว่าง ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2-3 กลุ่มมานาน ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ เพราะภาพรวมธุรกิจของเครือรพ.กรุงเทพฯ ยังดีอยู่ และประเมินว่าการขายหุ้นครั้งนี้ก็ไม่ส่งผล กระทบต่อธุรกิจเช่นเดียวกัน

"การที่ผู้ถือหุ้นซึ่งร่วมก่อตั้งรพ.มา ขายหุ้นออกไป ก็คงจะไม่ไหวแล้วจริงๆ โดยคาดว่าจะเป็นการขายหุ้นให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีกองทุนเข้ามาบ้าง แต่ไม่รู้ว่าใคร เนื่องจากเป็นการขายข้ามคืน  (overnight placement transaction) ทำให้ดูยากว่าใครมาซื้อ ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่มีกระแสข่าวว่า นพ.พงษ์ศักดิ์จะเข้าไปทำธุรกิจอะไรต่อหลังจากนี้"

บล.เกียรตินาคิน วิเคราะห์ว่า ราคาหุ้น กรุงเทพดุสิตเวชการ  ได้ปรับตัวตอบรับข่าวการขายหุ้นของ นพ.พงษ์ศักดิ์บ้างแล้ว โดยหากข่าวนี้เป็นจริง ราคาขายหุ้น กรุงเทพดุสิตเวชการ  ที่ราคาส่วนลด (discount) จากราคาปิดตลาด  2-5% จะส่งผลเชิงบรรยากาศเชิงลบต่อราคาหุ้น อย่างไรก็ตามหากผู้รับซื้อเป็นกลุ่ม นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท มองว่าจะไม่กระทบปัจจัยพื้นฐาน และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ครั้งนี้ อาจเป็นประเด็นต่อการเก็งกำไรหุ้นโรงพยาบาลขนาดกลางกลับมาอีกครั้ง

"หากข่าวที่กลุ่ม นพ.พงษ์ศักดิ์ ขายหุ้นจริง และยังมีความต้องการทำธุรกิจโรงพยาบาลต่อไปโดยการเข้าซื้อโรงพยาบาลที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว เรามองโรงพยาบาลขนาดกลางรวมถึงรพ.วิภาวดี (VIBHA) อาจเป็นเป้าหมายต่อการลงทุนใหม่ของกลุ่มผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้"

นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ดัชนีหุ้นกลุ่มการแพทย์ปรับขึ้น 47% มากกว่าการปรับขึ้นของตลาดโดยรวม โดยหุ้นกรุงเทพดุสิตเวชการ ปรับขึ้น 34% หุ้นบริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ปรับขึ้น 72% และ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล ปรับขึ้น 39%

ส่วนผลการดำเนินไตรมาส 3 ปีนี้ คาดทั้ง 3 บริษัทจะมีกำไรเติบโตทั้งจากไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลบวกฤดูกาลต่อการใช้บริการของผู้ป่วย หนุนรายได้ให้ เติบโตประมาณ 10-15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรขั้นต้นดีขึ้นจากการใช้บริการผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น โดยให้น้ำหนักการลงทุนเท่ากับตลาด

โดยคาดว่ากรุงเทพดุสิตเวชการจะมีกำไรสุทธิ 1,611 ล้านบาท เติบโต 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลการดำเนินงานบำรุงราษฎร์ไม่รวมกำไรจากการขายหุ้น บางกอกเชน คาดจะมีกำไร 530 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และบางกอกเชน คาดจะมีกำไรสุทธิ 252 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้กลุ่มลูกค้าเงินสดกลับมาเติบโตและรับรู้รายได้ย้อนหลังของลูกค้าประกันสังคม 10-15 ล้านบาท

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 ตุลาคม 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง