ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยกับสหภาพยุโรป หรือเอฟทีเอไทย-อียู อีกครั้ง โดยความคืบหน้าอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำกรอบหรือขอบเขตการเจรจา อันจะนำไปสู่ขั้นตอนการเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งเป้าหมายการจัดทำกรอบการเจรจาคาดจะให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของไทย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา มีวาระในประเด็นความอ่อนไหวในการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้เสนอแนวทางให้ไทยกำหนดท่าทีเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า ข้อตกลงทางการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์) ขององค์การการค้าโลก ซึ่งข้อผูกพันที่มากกว่า ทริปส์ นั้นเรียกว่า ทริปส์ พลัส

จากข้อเสนอแนะดังกล่าว จึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวคัดค้าน “ทริปส์ พลัส” อย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ และบุคลากรในแวดวงสาธารณสุข ที่วิตกถึงผลกระทบในระยะยาวต่อปัญหาการเข้าถึงยาของคนไทยจะทวีความรุนแรงขึ้น หรือแม้แต่บุคลากรในแวดวงทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ก็เห็นถึงผลกระทบดังกล่าว และต้องการให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อน

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล คณะทำงาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อกังวลหลักๆ มี 2 ประเด็นด้วยกันคือ การขยายสิทธิบัตรยาออกไปอีก 5 ปี คือขยายจาก 20 ปี เป็น 25 ปี และการผูกขาดข้อมูลทางยาอย่างน้อย 5 ปี หากประเทศไทยยอมรับในเงื่อนไขดังกล่าว จากงานวิจัยมีออกมาแล้วพบว่าจะกระทบกับราคายาให้แพงขึ้นอย่างแน่นอน สร้างความเสียหายต่อระบบหลักประกันสุขภาพของไทยในระยะยาว

 “ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศเราได้เห็นมาแล้ว ทั้งในโคลัมเบีย จอร์แดน ซึ่งพบว่าราคายาแพงมาก โดยปัจจุบันการเข้าถึงยาของคนไทยถือว่าอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ ภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่หากมีระบบการผูกขาดทางยาเข้ามาเชื่อว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะมีอุปสรรคใดๆ” น.ส.กรรณิการ์กล่าว

ตามข้อเสนอของกรมเจรจาฯ ระบุว่าการคุ้มครองข้อมูลทางยาเพิ่มเติม 5 ปี จะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน และการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญวางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อราคายามีจำกัด

เกี่ยวกับประเด็นนี้ น.ส.กรรณิการ์กล่าวว่า การคุ้มครองข้อมูลทางยาที่กรมเจรจาฯ ระบุ คือการผูกขาดข้อมูลทางยา ที่จะทำให้ไม่มีคู่แข่งขัน ผลก็คือราคายาจะแพงขึ้นเมื่อบริษัทผลิตยาชื่อสามัญของไทยไม่สามารถผลิตยาในราคาที่ถูกกว่าออกมาได้ ส่วนการขยายข้อมูลทางยาออกไป 5 ปี จะกระทบต่อกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง และโรคติดเชื้อ ซึ่งพวกเขาต้องการยาใหม่ๆ หากยาใหม่เหล่านี้ถูกบล็อกไว้ในราคาสูง จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียง 5 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องความเป็นความตายที่ยอมรับไม่ได้

ส่วนประเด็นที่ว่า เอฟทีเอไทย-อียู จะช่วยทดแทนการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังอียู ซึ่งจากงานวิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าจะเกิดความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท แต่คงเทียบไม่ได้กับความเสียหายจากการถูกผูกขาดข้อมูลทางยา ที่มีข้อมูลวิจัยว่าใน 5 ปีจะเสียหายจะสูงถึงกว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มต่อต้าน ทริปส์ พลัส จะยังไม่หยุดการเคลื่อนไหว โดยได้ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบกระบวนการจัดทำการเจรจา เอฟทีเอไทย-อียู ไปยังคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ในประเด็นเรื่องการเร่งรัดให้มีการนำร่างกรอบการเจรจาระหว่างไทย-อียู เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และให้ทันการพิจารณาของรัฐสภา โดยยังไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

สำหรับงานวิจัยที่ถูกกล่าวถึงดำเนินการโดย รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เป็นงานวิจัยถึงผลกระทบจากข้อเรียกร้องเอฟทีเอที่เกี่ยวกับยา โดยเฉพาะเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตร และการผูกขาดข้อมูลทดลองยา เมื่อปี 2550 สมัยที่ไทยเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา

ดร.จิราพรกล่าวว่า หากประเทศไทยยอมรับข้อเรียกร้องเอฟทีเอในด้านการขยายสิทธิบัตรยา และการผูกขาดข้อมูลทางยาออกไป 2 ปี และ 5 ปี จะพบความเสียหายที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากค่าใช้จ่ายและราคายาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการผูกขาดข้อมูลทางยา เมื่อผู้ผลิตยาต้นตำรับมาขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย จะมีผลให้บริษัทยาชื่อสามัญในประเทศไม่สามารถผลิตยาจากยาต้นตำรับในราคาที่ถูกกว่าได้

ทั้งนี้ พบว่า เมื่อยอมให้ผูกขาดข้อมูลยาภายในระยะ 5 ปี จะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นโดยความเสียหายจะสูงถึงกว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นความเสียหายที่สูงกว่าการขยายสิทธิบัตรออกไป 5 ปีที่พบความเสียหาย 2 หมื่นกว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวกลับพบว่าความเสียหายที่เกิดจากการขยายสิทธิบัตร จะสูงกว่าการผูกขาดข้อมูลทางยาเสียอีก

 “ตัวเลขความเสียหายนี้ ยังไม่รวมถึงความเสียหายในเชิงอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศ ซึ่งยังไม่สามารถคิดค้นและผลิตยาต้นตำรับเองได้ เพราะเมื่อเข้าตลาดได้ช้าลงจากการถูกผูกขาดทางยา โอกาสในเชิงธุรกิจก็จะลดลง กลายเป็นอุตสาหรรมผลิตยาในประเทศยิ่งอ่อนแอ” ดร.จิราพรกล่าวและว่า  ขณะเดียวกัน ระบบผูกขาดจะมีผลกระทบต่อระบบสุขภาพของไทย เพราะเมื่อยามีราคาแพงก็จะไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบสิทธิประโยชน์ สุดท้ายจะเป็นการทำลายระบบ และการเข้าถึงยาของชาวบ้าน

ด้านการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงพาณิชย์ นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การเรียกร้องของประชาชนคือ การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทุกฉบับและสิทธิบัตรยา ขอให้มีระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไม่มากหรือเข้มงวดไปกว่าข้อผูกพันในข้อตกลงทางการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทริปส์ ต้องเป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 มาตรา 190 และยึดผลจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามกลไกตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

"เราคงไม่ได้ไปขัดขวางการเจรจาทางการค้า แต่ขอให้เดินไปตามกรอบกติกาของประเทศ และกระบวนการเจรจาควรมีความโปร่งใส ซึ่งข้อตกลงทางการค้าใดๆ ควรจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศ" นายนิมิตรกล่าวและว่า หากมีการยอมรับในทริปส์ พลัส หมายความว่าตัวยาใหม่ๆ ที่มีความจำเป็น ประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงยานั้นได้ ถ้าเจ้าของสิทธิยืนยันว่าต้องคุ้มครองสิทธิบัตรยาว 25 ปี ขณะที่การผูกขาดข้อมูลทางยา ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะ จะยิ่งทำให้การเข้าถึงยาใหม่ๆ สำหรับทุกโรคทำได้ยากขึ้น ประชาชนไม่สามารถพึ่งพาอุตสาหกรรมยาในประเทศได้ จนเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในระบบสุขภาพของประเทศในที่สุด

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 15 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง