ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันนี้ (15 ต.ค. 55) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงการพูดคุยกับผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนว่า

“ได้ไปเยี่ยมสมาคมของโรงพยาบาลเอกชนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมว่ามีประเด็นที่น่าสนใจที่ผมคิดว่าเกี่ยวข้องกับอนาคตของประเทศค่อนข้างมาก

คือประเด็นแรกนั้นสิ่งหนึ่งซึ่งสะท้อนออกมาจากผู้ที่ทำงานในภาคเอกชน ในโรงพยาบาลเอกชนก็คือว่า เขาก็คิดว่า เขาเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของเรา แต่ว่าเขาคิดว่าเขายังมีโอกาสในการมีส่วนร่วมในหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่เรื่องของการกำหนดนโยบาย แนวทางอะไรต่าง ๆ ค่อนข้างที่จะน้อยเกินไป อาจจะเป็นเพราะว่ายังคงมีความรู้สึกในบางส่วนว่า เขาทำสิ่งเหล่านี้เพื่อกำไรอย่างเดียวหรือเปล่าในทำนองนั้น แต่จริง ๆ แล้วการให้บริการด้านสุขภาพ ด้านสาธารณสุขนั้น ก็จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับการศึกษาด้วยส่วนหนึ่ง ก็คือว่า เอกชนก็สามารถที่จะเป็นบริการที่เข้ามาเสริมได้ เพียงแต่ว่าเราจะจัดกติกากันอย่างไร ที่จะให้อยู่กันอย่างสมดุล เหมาะสม

ทีนี้ประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบัน เขาก็มองว่า ก็มีเรื่องของอาเซียน ความจริงมี หรือไม่มีอาเซียนขณะนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือว่า ถ้าดูไปแล้ว เรากำลังให้บริการสาธารณสุขกับคนไม่ใช่ 60 กว่าล้านคน เรามีแถมเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอีกอาจจะ 4 – 5 ล้านคน และเราก็มีชาวต่างประเทศที่ชอบใจในบริการสุขภาพของเราเดินทางมาเยอะพอสมควร จนกระทั่งบางทีเราจะได้ยินการพูดถึงว่า จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเมดิคัลฮับ

แต่ปรากฎว่าถ้าเรามาดูตัวเลขบางตัวแล้วมันก็น่าตกใจ โดยเฉพาะตัวเลขสำคัญก็คือว่า จำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุข เทียบกับประชากร วันนั้นที่เขาให้ผมดู อย่างในอาเซียนนั้นกรณีของหมอต่อจำนวนประชากร ปรากฎว่าเราอาจจะนึกว่าเราอยู่ในอันดับ 1 – 2 – 3 อะไรทำนองนี้ ปรากฎว่าไม่ใช่ครับ 1 – 2 – 3 นั้นถ้าจะนับต้องนับจากทางท้ายครับ

แต่ว่าแน่นอนนะครับ อันนี้ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องคุณภาพ แต่พูดถึงเรื่องของจำนวนหมอต่อประชากร เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกันขณะนี้ก็คือเรื่องนี้ แล้วก็ในอาเซียนด้วยกันเอง เราก็มีข้อตกลงในการที่จะมีการแลกเปลี่ยน รับรองการเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศอาเซียนด้วยกันได้ เพียงแต่ว่าเรามีข้อกำหนดเอาไว้ว่า ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ

กรณีของเราขณะนี้ก็คือ จะต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมาสอบ ซึ่งข้อสอบยังเป็นภาษาไทยอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ยังเป็นจุดหนึ่งที่เป็นตัวที่ทำให้ยังไม่มีการเคลื่อนย้ายกันเข้ามามาก แต่ว่าก็น่าสนใจนะครับ ผมก็ค่อนข้างที่จะบอกว่า แนวคิดตรงกับทางหลาย ๆ ฝ่ายก็คือ ผมคิดว่ามันถึงเวลาเหมือนกันที่เราจะต้องเปิดให้แพทย์ หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขจากต่างประเทศเข้ามาทำงานที่นี่ได้ มาบริการจะเป็นคนไทย หรือชาวต่างประเทศได้ และผมเชื่อนะครับว่ามันไม่ได้มีผลกระทบที่จะทำให้หมอ หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขด้านอื่นจะประสบกับปัญหาภาวะว่าถูกแย่งงานทำอะไรนั้น ผมคิดว่าคงไม่ใช่ เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น

แล้วก็ความจริงความได้เปรียบของเราในเรื่องอื่นน่าจะทำให้ตรงนี้ส่งเสริมให้เราเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ได้เป็นอย่างดี อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการพูดกัน นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของกฎหมายซึ่งยังมีกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคหลายอย่าง แต่ประเด็นก็คือว่า เราต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และผมเชื่อว่าสิ่งที่เป็นข้อจำกัดในปัจจุบัน ที่ผมพูดเมื่อสักครู่ เช่นว่าการสอบเป็นภาษาท้องถิ่นหรืออะไรนั้น ต่อไปก็คงจะต้องถูกยกเลิก แล้วก็ประเทศเพื่อนบ้านเราหลายประเทศเองนั้น เขาก็มีความตั้งใจในการที่จะเข้ามาดึงบริการสุขภาพนี้ไปเป็น อย่างกรณีของมาเลเซีย สิงคโปร์ อยากจะเป็นศูนย์กลางเช่นเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ของเรา ขณะนี้ก็เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 100% อะไรทำนองนี้

เพราะฉะนั้นความจริงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราควรที่จะต้องเตรียมการ แล้วก็หาข้อยุติโดยเร็ว ในการที่จะแก้ปัญหา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ถาม : เรื่องนี้ต้องแก้กฎหมายหรือไม่อย่างไร

 “กรณีบุคลากรนั้นไม่ถึงขั้นกฎหมายหรอกครับ ผมคิดว่าเป็นเรื่องขององค์กรวิชาชีพ ซึ่งจะสามารถหาแนวทางที่จะทำตรงนี้ได้ แต่ว่ากฎหมายอื่น ๆ ที่ต้องมีการพูดคุยกันนั้น ก็มีตั้งแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับว่ากฎหมายสถานพยาบาล กฎหมายอะไรต่าง ๆ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แล้วก็ในอนาคตนั้น อย่าลืมว่าเรากำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุด้วย เพราะฉะนั้นการรับมือในเรื่องของดูว่ากองทุนสุขภาพทั้งหลายนั้นอยู่ได้ บริหารอย่างมีประสิทธิภาพ สิทธิประโยชน์จะว่ากันอย่างไรต่อไป ยังเป็นเรื่องใหญ่นะครับ

แล้วก็ถ้าเรามองไปที่ประเทศอย่างในยุโรปหรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาเอง เราจะพบว่าปัญหานี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในแง่ของการเงินการคลังทุกประเทศด้วย”

ถาม : เรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับแนวคิดที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียนตรงนี้หรือไม่

 “ใช่ครับ ผมคิดว่า เราไม่ได้พูดถึงเฉพาะกรุงเทพฯ ผมคิดว่าในสภาพปัจจุบันนี้ ผมยืนยันว่าโรงพยาบาลใหญ่ ๆ อย่างในภาคอีสานนั้น ขณะนี้ก็รับคนที่เข้ามารักษาพยาบาลจากประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องมาทำตรงนี้ แต่ขณะนี้เดียวกันการทำตรงนี้ก็ต้องไม่ให้มากระทบกับการดูแลสุขภาพของคนไทยด้วยกันเอง

ดังนั้นที่ผ่านมา ข้อกังวลจะเป็นว่า ถ้าธุรกิจตรงนี้เกิดเติบโต เหมือนกับเราจะดึงทรัพยากรออกไปจากภาครัฐ จากภาคที่บริหารให้ประชาชนหรือเปล่า ผมถึงมองว่าการนำให้บุคลากรต่างประเทศนั้นสามารถเข้ามาได้ แล้วมันก็สอดคล้องกับหลักของอาเซียนอยู่แล้ว น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งควรจะมีการพิจารณา”

ถาม : ในขณะที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน 1 มค. 2558 หากจะแบ่งโรงพยาบาลออกไป 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นด้านบนที่ผู้ใช้บริการเป็นคนมีเงิน และต่างชาติก็เข้ามาใช้บริการค่อนข้างมาก ส่วนที่ 2 ระดับล่าง คือโรงพยาบาลของรัฐตามที่ต่าง ๆ ก็ถูกแรงงานต่างด้าวมาร่วมใช้ทรัพยากรตรงนี้ด้วยเช่นกัน คุณอภิสิทธิ์มองเรื่องนี้อย่างไร

 “ตรงนี้แหละครับที่ผมถึงบอกว่าคอขวดประการหนึ่งมีที่บุคลกร แล้วก็ถ้าเราสามารถที่จะเปิดบุคลากร แล้วก็ในระยะกลาง ระยะยาวก็คือว่า ต้องมีการเพิ่มความสามารถในการผลิตบุคลากรออกมาได้ ที่ผ่านมานั้นยังผลิตไม่พอ โดยเฉพาะที่ผมไปคุยกับทางเอกชนนั้น เอกชนเขาก็บอกเขาเอง เขาก็มีความตั้งใจ มีความต้องการที่จะผลิตบุคลากรเองด้วย แต่ที่ผ่านมานั้น มักจะไม่ได้รับอนุมัติ อนุญาตจากภาครัฐ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่ง ทีนี้ค่าใช้จ่ายทั้งหลายตรงนี้ที่มันจำเป็นจะต้องมาจัดระบบ มาหามาตรการนั้นก็เพราะว่าเราเริ่มเห็นอาการของปัญหาค่าใช้จ่ายที่ ส่วนใหญ่คนจะพุ่งไปที่เรื่องของระบบของข้าราชการ ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ว่าความจริงแล้วก็มีการพูดกันมากว่าเงินตรงนี้ก็หมุนเวียนกันอยู่ในระบบสาธารณสุข แต่ว่าจะเห็นว่านาน ๆ ทีก็จะมีประเด็นปัญหาถกเถียงกันว่าจะต้องมีการตัดยาออกจากบัญชีหลัก ตอนนี้ก็รู้สึกว่า ปัญหาเรื่องของยาที่เกี่ยวกับโรคข้อเสื่อม ซึ่งกระทบผู้สูงอายุ ก็เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

และเราจะเห็นว่าต่างชาติ อย่างอเมริกาตอนนี้ที่เลือกตั้งกันอยู่ ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องปัญหานี้ว่า จะควบคุมต้นทุนทางด้านสาธารณสุขกันอย่างไร”

ถาม : ถ้าในส่วนของโรงพยาบาลที่ดำเนินการแบบธุรกิจแล้วมีผลกำไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการถ่ายโอนบางส่วนมาช่วยเหลือการรักษาพยาบาลของคนในประเทศ เหมือนเป็นการถ่ายโอนทรัพยากรนำกำไรส่วนเกินพิเศษแบ่งมาให้คนในประเทศ มีระบบที่จัดการอย่างนี้ได้หรือไม่

 “ผมว่าเป็นไปได้ครับ ไม่น่าจะยากนะครับ และมันเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขของการประกอบธุรกิจ ทีนี้เวลาเราพูดถึงของเอกชน เราคงต้องแยกแยะเหมือนกัน ก็คือ ประเภทที่ราคาสูง แล้วก็ให้บริการคนต่างชาติก็มีจำนวนหนึ่ง แต่มีอีกจำนวนเยอะมากซึ่งเขาก็ทำงานอยู่ในระบบของประกันสังคม ในยุคหนึ่งเขาเคยมาทำเรื่อง 30 บาท แต่ปรากฎว่าเท่าที่ทราบตอนนี้ก็คือถอนตัวออกมาหมดแล้ว แล้วก็ในระบบของข้าราชการเอง ตอนหลังก็เริ่มเปิดโอกาสให้ข้าราชการสามารถไปใช้ของทางเอกชนได้มากขึ้น

แต่ว่าตรงนี้ก็เป็นทรัพยากรที่มีค่าทั้งนั้น เราก็ต้องมาดูว่าจะจัดระบบกันอย่างไรที่จะรองรับตรงนี้ แล้วก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือว่า งานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพ วันก่อนผมก็ยังคุยกับทาง กทม. เหมือนกัน เพราะว่า กทม. เองก็ต้องทำหน้าที่ในการบริการด้านสุขภาพ ด้านสาธารณสุข ก็มีการพูดกันว่า ต้องหาแนวทางในการที่จะกระตุ้นให้คนดูแลรักษาสุขภาพ แล้วก็มีประชากรจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งเขามีสิทธิ์ที่จะมาใช้บริการการรักษาพยาบาลแต่ว่าเขาไม่ได้ใช้เพราะว่าเขามีสุขภาพดี แต่ว่านโยบายเรากลับไปพุ่งที่ว่าคนเจ็บคนป่วยนั้นจะให้ฟรีอย่างไร แต่คนแข็งแรงเราก็เลยไม่ค่อยดูแลเขา”

ถาม : ดังนั้นตรงไหนคือความสมดุลว่าเราจะให้น้ำหนักกับการสร้างสุขภาพดีต้องมาก่อนการไปรักษาสุขภาพ หรือว่าจะต้องไปพร้อม ๆ กัน

 “ต้องไปพร้อม ๆ กันนะครับ คือแน่นอนว่าถ้าเราดูงานส่งเสริมป้องกันดี คนก็ไปใช้บริการน้อย แต่ว่าจะอย่างไรก็ตามการเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เกิดขึ้น แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ปัจจุบันเราก็อายุยืนยาวมากขึ้น พอสูงอายุก็จะมีโรคที่เป็นโรคค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงอยู่ จะเป็นไต จะเป็นหัวใจ เบาหวาน อะไรพวกนี้ มะเร็ง เพราะฉะนั้นตรงนี้ยังไงก็ยังหนีไม่พ้นหรอกครับที่เราก็จะต้องจัดระบบบริการในเรื่องการรักษาพยาบาลให้ดี”

ถาม : คุณอภิสิทธิ์ได้ถามสมาคมผู้ประกอบการโรงพยาบาลหรือไม่ เพราะดูว่าการแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชนนั้นสูงมาก ตัวเลขการขยายตัวของโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างไรบ้าง

 “ก็เติบโตขึ้นโดยลำดับนะครับ แต่ว่าสิ่งที่เขาอยากจะทำก็คือว่า เวลานี้เขาสร้างอาคาร ลงทุนอะไรได้เยอะ แต่เขาผลิตบุคลากรเองไม่ค่อยได้ เพราะยังไม่ได้รับอนุญาต”

ถาม : หากโรงพยาบาลเอกชนขยายตัวมากขึ้น ความต้องการจากต่างชาติเข้ามาใช้บริการมากขึ้น แล้วโอกาสที่แพทย์ชนบทต่าง ๆ จะถูกดูดจากชนบทสู่เมืองหรือไม่

 “มันก็มีปัญหานี้แหละครับ แล้วก็จริง ๆ แหละครับ แล้วเขาก็เสนอทางออกว่า ถ้าเราเปิดโอกาสให้เอาหมอจากต่างประเทศเข้ามา มันก็ช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้ครับ”

ถาม : กลับไปที่นโยบายสุขภาพที่บอกว่า หากปล่อยให้ป่วยแล้วทำให้มีต้นทุนสูง ดังนั้นตอนนี้ควรมีกลไก หรือมาตรการจูงใจเสริมอย่างไรให้กับคนที่ไม่ป่วย

 “กำลังดูกันอยู่ครับ และผมก็อยากจะเชิญชวน เพราะว่าตอนนี้ที่เรากำลังจะทำโครงการ ออกแบบประเทศไทย หรือพิมพ์เขียวประเทศไทยนั้น เราจะมาคิดในเรื่องเหล่านี้กันมากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็จะมีแต่นโยบายเฉพาะหน้าประชานิยมอย่างเดียว”

 “ความจริงขณะนี้เราก็มีองค์กรที่ทำงานทางด้านนี้อย่างเช่น สสส. เขาก็ทำงานตรงนี้อยู่ แล้วก็นอกจากนั้น ผมคิดว่าเรื่องสิทธิประโยชน์ทางด้านการรักษาพยาบาลก็จะพยายามเลือกเพิ่มเรื่องป้องกันเข้าไป แต่ว่าผมยกตัวอย่างว่า ก่อนหน้านี้ผมก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ และเราก็เห็นเลยครับว่าในอดีตนั้น มันไม่ได้คิดกันในกรอบแบบนี้ อย่างเช่นกฎหมายประกันสังคม ปรากฎว่าในเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล ถ้าอ่านตัวกฎหมายแล้วมันไม่สามารถทำให้ไปครอบคลุมถึงเรื่องของการให้บริการเรื่องการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกัน เพื่ออะไรได้ คือต้องเจ็บป่วยกันเสียก่อน”

ถาม : ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างสุขภาพไม่ให้คนเจ็บ คนป่วย อาทิร้านอาหารเน้นสุขภาพ ก็จะมีราคาแพง

 “ก็คงต้องมาช่วยกันคิดสิครับว่า จะเอากันแค่ไหน เพราะว่าตอนนี้ที่นิวยอร์ค ทางนายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ค ก็เพิ่งไปออกกฎหมายห้ามกินน้ำอัดลมแก้วใหญ่ ๆ ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็อีกเรื่องเรื่องนึง แต่แสดงให้เห็นนะครับ เรียกว่าตอนนี้เขาคิดกันเรื่องนี้มากขึ้น แม้กระทั่งที่มีการพูดถึงว่า ต่อไปจะต้องมีการเก็บภาษีอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสูงหรือไม่”

ถาม : มาตรการที่คุณอภิสิทธิ์ตัวอย่างมานั้น แสดงว่ามีหลักคิดอยู่เบื้องหลังใช่หรือไม่

“คือมีหลักคิดกันอยู่ แต่ว่าผมคิดว่าหลายเรื่องมันก็จะมากระทบกับพฤติกรรม ความคุ้นเคยอะไรหลายอย่าง เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมว่าเป็นหัวข้อใหญ่ หัวข้อสำคัญเลยที่หลายฝ่ายก็คงต้องมาช่วยกันคิดต่อไป”

เมื่อคุณอภิสิทธิ์ได้จุดประกายเรื่องนี้ จะทำให้สังคมไทยช่วยกันออกมาคิดและพยายามที่จะทำเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้หรือไม่

 “คือผมก็พยายามนะครับตอนนี้ หลังจากที่เริ่มต้นเรื่อง 10 ฐานราก ออกแบบประเทศไทย ก็กำลังจะทำให้เรื่องนี้เป็นระบบ เป็นประจำกันมากขึ้น แล้วเราก็จะเดินหน้ากันต่อไปในเรื่องนี้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ที่มา: http://www.thanonline.com