ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น สิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น" กรณีเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลให้บรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการ เหตุเพราะลูกจ้างชั่วคราวได้รับสิทธิ สวัสดิการและความมั่นคงไม่เท่ากับข้าราชการ ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2547 รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย "รัดเข็มขัด" จำกัดขนาดกำลังคนภาครัฐ เพื่อควบคุมงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยเฉพาะในส่วนงบเงินเดือนและสวัสดิการที่เป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี จึงจำเป็นต้องควบคุมจำนวนข้าราชการด้วยการไม่เปิดอัตราและตำแหน่งใหม่

สำหรับกระทรวงสาธารณสุข มีลูกจ้างชั่วคราวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบริการผู้ป่วย 21 สาขาวิชาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 24,552 คน โดยเป็นพยาบาลวิชาชีพมากสุดถึง 17,542 คน ขณะที่ตามแผน 5 ปี ขออัตรากำลังคน พ.ศ. 2556-2560 ของกระทรวงสาธารณสุข จะขอเพิ่มทั้งสิ้น 76,769 คน ใช้งบประมาณ 12,145 ล้านบาท ซึ่งการจัดสรรกำลังคนจะแบ่งเป็น 2 ระยะอย่างน้อย อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวนี้รวมถึงสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ไม่เฉพาะพยาบาลวิชาชีพ อีกทั้งอาจรวมบางตำแหน่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริการผู้ป่วยด้วย จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่าอาจมี "บางคน" ที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แล้ว "บางคน" ที่ผิดหวัง รัฐบาลจะช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร

ที่น่าจับตา ในปี พ.ศ. 2558 เราจะมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งทั้ง 10 ประเทศสมาชิกต่างมีข้อตกลงและเป้าประสงค์เดียวในการส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานผลิตเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการและการลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรี จึงเป็นไปได้อย่างมากที่การถ่ายเทแรงงานด้านฝีมือจะสามารถไปทำงานในประเทศสมาชิกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล 3 ใน 8 อาชีพที่มีการตกลงกันไว้แล้ว จึงมีคำถามว่า ถึงวันนี้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบวิชาชีพ เตรียมพร้อมเพิ่มศักยภาพการแข่งขันไปถึงไหน

เมื่อพิจารณาถึงข้อเรียกร้องของเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว มิอาจปฏิเสธว่ารัฐบาลจะต้องดำเนินการช่วยเหลือ สนับสนุนอย่างเร่งด่วน หากใช้นโยบายประชานิยมเอาใจพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว ก็สุดจะคัดค้านได้ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีลูกจ้างชั่วคราวอีก 20 สาขาวิชาชีพในกระทรวงและอาจกระทบถึงกระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ ดังนั้น "ความเป็นธรรม" และ "ความเหมาะสม" จึงเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนและผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการจัดสรร เตรียมพร้อมบุคลากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่ออนาคตของข้าราชการ ทั้งจำนวน จริยธรรม คุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--