ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 20 ต.ค.  ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะเต่า อ.เกาะพงัน จ.สุราษฏร์ธานี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมความพร้อมโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลเกาะเต่า จังหวัดสุราษฏร์ธานี สร้างความเชื่อมั่นด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานระดับสากลให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ในวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี

นายวิทยา กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงบริการรวดเร็ว ครอบคลุมในทุกพื้นที่โดยในชนบทห่างไกลพื้นที่พิเศษเกาะแก่ง รวมทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาปีละหลายล้านคน โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอ่าวไทย โดยที่ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีประชากร เป็นคนไทย 2,000 คน ชาวต่างชาติประมาณ 20,000 คน แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามา ท่องเที่ยวและที่นิยมมากที่สุดคือการมาเรียนดำน้ำมีมากถึงปีละประมาณ 400,000-500,000 คน ถือว่ามากที่สุดในโลก นำรายได้ให้ประเทศไทยหลายล้านบาทต่อปี

ดังนั้น จังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงเสนอให้มีการพัฒนายกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เกาะเต่าเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง รองรับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2550 มีผู้มาใช้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เกาะเต่าประมาณ 3,000 คน ในปี 2555 ถึงเดือนตุลาคม มีผู้ใช้บริการ เพิ่มเกือบ 6,000 คน ร้อยละ 80 เป็นนักท่องเที่ยว ทั้งนี้หากมีผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการส่งตัวไปโรงพยาบาลเกาะใกล้เคียงที่เกาะพงันหรือเกาะสมุยหรือหากอาการหนักมากต้องส่งโรงพยาบาลประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องส่งต่อทางเรือเป็นหลัก และใช้เวลาเดินทางนาน ประมาณ 1-3 ชั่วโมง ซึ่งบางครั้งอาจมีคลื่นลมแรงก็ไม่สามารถส่งต่อได้

สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างโรงพยาบาลเกาะเต่าประมาณ 50 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารที่สามารถให้บริการประชาชนครอบคลุมทั้งห้องผ่าตัด ห้องคลอด และให้บริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน โรงไฟฟ้า อาคารนึ่งกลาง ซักฟอก และอาคารพักพยาบาล หากได้รับการความเห็นชอบจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2556-2557 และสามารถให้บริการในการดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งผู้ประสบอุบัติเหตุ ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉิน การผ่าตัด การทำคลอด โดยไม่จำเป็นต้องส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น สร้างความสะดวกมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้เสนอโครงการอีก 2 โครงการวงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในหลักการ คือ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพการให้บริการสาธารณสุขทางทะเลและระบบส่งต่อ 2.โครงการลดความแออัดผู้ป่วยในของโรงพยาบาลสุราษฏร์ธานี