ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ศจย. เผยผลสำรวจนักเรียนมัธยมกว่าครึ่งซื้อบุหรี่สูบได้ในโรงเรียน มีรุ่นพี่รุ่นน้องและเพื่อนๆ ขาย เน้น กานพลู มีกลิ่นหอมแบ่งขายแยกมวน แถมมาตรการห้ามขายบุหรี่ให้เด็กอายุ 20 ปียังไร้ผล          เหตุนอกโรงเรียนยังหาซื้อได้ง่าย ทั้งร้านชำ ร้านสะดวกซื้อ ไม่ดูบัตรประชาชน ขณะที่พบเยาวชนเร่ขายบุหรี่เพิ่ม โดยเฉพาะแหล่งชอปปิงกลางคืน เหตุเข้าถึงวัยรุ่นด้วยกันได้ง่าย จี้เร่งออกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. ....ห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีขาย

ปัญหาบุหรี่ในวัยรุ่นยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึง การสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในงานแถลง ยุติการให้เด็กขายบุหรี่ ว่าอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการสูบลดลงตลอดโดยปี 2554 มีอัตราการสูบอยู่ที่ร้อยละ 21.36 แต่เมื่อดูเฉพาะกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 15-18 ปี พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 9.2 ซึ่งสูงจาก 10 ปีที่แล้วที่มีอัตราการสูบอยู่ที่ร้อยละ 6.44 ส่วนอายุ 19-24 ปีมีอัตราการสูบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 22 ในปี 2554 นอกจากนี้ยังพบเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่อายุต่ำสุดที่ 6 ปี สาเหตุเกิดจากเยาวชนสามารถเข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย จึงจำเป็นต้องหามาตรการในการแก้ไขปัญหา

ส่วนผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 ประมาณ 2,000 คน ในโรงเรียน 7 แห่ง โดยเฉพาะการซื้อขายบุหรี่ พบว่า เยาวชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 79 ระบุว่าแถวโรงเรียนมีร้านบุหรี่ที่สามารถซื้อได้ โดยร้อยละ 67 เน้นแบ่งขายบุหรี่ให้เด็กแบบเป็นมวน อีกทั้งร้อยละ 56.1 ยังระบุว่าสามารถซื้อบุหรี่ได้ในโรงเรียนจากรุ่นพี่รุ่นน้องหรือเพื่อนที่นำบุหรี่มาแบ่งขาย ซึ่งเด็กๆ ด้วยกันจะรู้ว่าสามารถหาซื้อบุหรี่ได้จากใคร ที่ไหน

นอกจากนี้ ร้อยละ 80 ยังบอกว่าร้านค้าในละแวกบ้านยังคงขายบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และไม่ได้มีการขอดูบัตรประชาชน อีกทั้งในห้างสรรพสินค้าทุกแห่งเยาวชนยังสามารถซื้อบุหรี่ได้ง่าย ภาพรวมคือเยาวชนสามารถซื้อบุหรี่ได้ไม่เกิน 7 นาที

พบเด็กต่ำกว่า20ปีขายบุหรี่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ขณะนี้ไม่เพียงแต่ปัญหาเยาวชนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังพบเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปี ขายบุหรี่มากขึ้น โดยเฉพาะแผงลอยตามย่านต่างๆ รวมถึงแหล่งชอปปิงกลางคืน เน้นขายบุหรี่กานพลู บุหรี่ชูรสที่แบ่งขายเป็นมวน ทั้งนี้เนื่องจากเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นด้วยกัน แนะนำได้ง่าย เน้นรสชาติ นุ่ม หอม หวาน เย็น โดยในกลุ่มเยาวชนเหล่านี้จะขายบุหรี่ในช่วงหลังห้าโมงเย็นถึงหลังเที่ยงคืน ได้รับค่าจ้างเพียง 150 บาทเท่านั้น ถือว่าถูกกดด้วยค่าแรงที่ถูกมาก

ส่วนนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นกลุ่มเยาวชน 300,000 คน จากจำนวนนักสูบทั่วประเทศ 12 ล้านคน จำเป็นที่ต้องหามาตรการเพื่อป้องกันเพื่อไม่ให้เยาวชนมีอัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการดำเนินการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. .... ฉบับใหม่ โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเยาวชน มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงยาสูบได้ง่าย

ห้ามเด็กต่ำกว่า18ปีขายบุหรี่

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการดำเนินการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการดำเนินการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. ....ฉบับใหม่โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเยาวชน มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงยาสูบได้ง่าย

ทั้งการขยายอายุห้ามขายยาสูบให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี การห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีขายยาสูบ การห้ามขายยาสูบผ่านเครื่องอัตโนมัติ การห้ามแจกของแถมหรือให้สิทธิ์ในการเข้าชมการแข่งขันหรือการแสดงเพื่อตอบแทนผู้ซื้อ การห้ามแสดงราคายาสูบเพื่อจูงใจ และยังกำหนดห้ามไม่ให้แบ่งขายแยกมวน นอกจากนี้ยังกำหนดสถานที่และบริเวณโดยรอบที่ห้ามจำหน่ายยาสูบ ได้แก่ วัด ศาสนสถานทุกศาสนา สถานบริการสาธารณสุข สถานที่ราชการ สถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น

การห้ามเด็กขายบุหรี่ถือเป็นกฎหมายใหม่ในบ้านเรา กำหนดไว้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งกฎหมายนี้มีหลายประเทศที่ทำมาแล้ว อย่าง อังกฤษ ออสเตรเลีย เพราะหากเด็กเข้ามาเป็นผู้ขายจะทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ ทั้งยังเป็นกลุ่มที่ชักจูงเพื่อนในวัยเดียวกันได้ง่าย ผศ.ดร.ลักขณา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางอุตสาหกรรมบุหรี่พยายามอ้างว่า การกำหนดดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเด็กในการหารายได้ แต่ทางองค์กรสิทธิเด็กระบุไว้ชัดว่า การส่งเสริมเด็กในการหารายได้สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและจิตใจ ซึ่งบุหรี่ก็เป็นสินค้าหนึ่งที่มีพิษภัย โดยขณะนี้ร่าง พรบ.ควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ ยังกำหนดโทษ หากผู้ใดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีจำหน่ายยาสูบ จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. .... ล่าสุดได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ความเห็น 4 ภาคแล้ว ซึ่งทางสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการสรุปความคิดเห็นที่ได้รับเพื่อดำเนินการปรับปรุง คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อ ครม.ได้ภายในเดือนธ.ค. นี้ ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร์เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 ตุลาคม 2555