ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"แพทย์ครอบครัว" ในไทยน่าห่วง เบี่ยงไปเรียนเฉพาะทางสาขาอื่นถึง 50% เหตุไม่ได้รับการยอมรับไม่มีนโยบายสนับสนุนชัดเจน ขณะที่แพทย์จบใหม่เมิน สมัครเรียนเฉพาะทางแค่ 20 คนต่อปี เตรียมเสนอกก.กำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ผลักดดันการพัฒนายุทธศาสตร์การทำงาน 29 ต.ค. นี้

พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ กล่าวในการเสวนา เรื่อง "แผนกำลังคน แพทย์ครอบครัวสู่ภาพพึงประสงค์ของระบบบริการสาธารณสุข ปฐมภูมิ" ว่า อัตราการเพิ่มของแพทย์ครอบครัวในประเทศไทยน่าเป็นห่วง เ นื่องจากเป็นสาขาที่ไม่ได้รับความนิยมจากแพทย์รุ่นใหม่ แต่ละปีมีผู้สมัครเรียนเฉพาะทางประมาณ 20 คนเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีแพทย์ครอบครัวที่ได้รับวุฒิบัตรจำนวน 309 คน แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ยังปฏิบัติหน้าที่แพทย์ครอบครัว ที่เหลือเปลี่ยนไปเรียนเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น จนถึงขณะนี้มีชมรมเครือข่ายเวชศาสตร์ครอบครัวอยู่ไม่เกิน 150 คน ที่ยังอยู่ในระบบและปฏิบัติงาน เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับเหมือนแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ เป็นผลจากการไม่มีนโยบายที่จะสนับสนุนการผลิตแพทย์กลุ่มนี้ จำนวนครูผู้สอนไม่เพียงพอ ทั้งที่การเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวเคยได้รับความนิยมในช่วงแรกหลังการประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

พญ.สุพัตรา ศรีวิณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน กล่าวว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาแพทย์ครอบครัวโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ทุนเรียน ผ่านการนสอนและฝึกปฏิบัติในศูนย์การเรียนรู้เวชศาสตร์ครอบครัว ที่มี 18 แห่งทั่วประเทศในพื้นที่หลักๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ทำให้ปัจจุบันมีแพทย์ครอบครัวกระจายตัวอยู่ในโรงพยาบาลทั่วไปโรงพยาบาลชุมชน รพ.สต.เป็นต้น ทำหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยในครอบครัว บริการไปเยี่ยมตามบ้าน การให้ความรู้ในการป้องกันโรคต่างๆ ช่วยให้การบริการของโรงพยาบาลในระดับพื้นที่ดีขึ้น เป็นการสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิแต่แพทย์ครอบครัวกลับถูกใช้ทำงานที่หลากหลายไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา ผู้บริหารโรงพยาบาลยังไม่เข้าใจในความสามารถเฉพาะทาง และเงินเดือนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ทำให้ลาออกไปศึกษาต่อเพิ่มเติมถึง 30-40%

ด้านนพ.นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในอนาคตจะมีการวางระบบพัฒนากำลังคนใหม่ เพื่อให้เกิดแพทย์ครอบครัวในอัตตาส่วนที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับแพทย์รักษาโรคโดยทั่วไป

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข เลขานุการคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอทั้งหมดจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติที่จะประชุมในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ เพื่อผลักดันพัฒนายุทธศาสตร์การทำงานต่อไป

ที่มา: นสพ.คมชัดลึก วันที่ 26 ตุลาคม 2555