ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปลัดสธ.เผยพบผู้ป่วยโรคคอตีบแล้วเกือบ 80 ราย เสียชีวิต 4ราย สั่งนายแพทย์สาธารณสุข 15 จังหวัดตั้งวอร์รูมควบคุมการระบาดของโรคคอตีบอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะจังหวัดเลยที่พบผู้ป่วยสูงถึง 66 รายและเร่งจัดทำแนวทางการวินิจฉัย การรักษาโรคให้แพทย์ พยาบาลพร้อมส่งอสม.เคาะประตูบ้านติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยในหมู่บ้านสัปดาห์ละ 2ครั้ง แนะนำประชาชนป้องกันตนเอง หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลังจากสัมผัสสิ่งของและใช้ผ้าปิดจมูกและปากเวลาไอ หรือจาม

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ของโรคคอตีบว่า จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยาตั้งแต่1 มกราคม - 14 ตุลาคม 2555 พบผู้ป่วยโรคคอตีบ 79 รายใน 15 จังหวัดเป็นเด็กอายุ 10 - 14 ปีมากถึงร้อยละ 24 และมีผู้เสียชีวิต 4 รายกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ตั้งวอร์รูม ที่ส่วนกลางเพื่อติดตามประเมินความคืบหน้าสถานการณ์และมาตรการควบคุมป้องกันโรคประชุมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ในการควบคุมการระบาดของโรคคอตีบขณะนี้ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น ใน 15จังหวัด แบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 1.จังหวัดที่ต้องดำเนินการขั้นสูงสุดได้แก่ จังหวัดเลย เนื่องจากที่พบผู้ป่วยมากถึง 66 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย 2.จังหวัดอื่นๆที่พบผู้ป่วยยืนยันว่าติดเชื้อ ได้แก่ เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี

3.จังหวัดที่พบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อ ได้แก่ พิษณุโลก สกลนคร และ 4.จังหวัดที่ติดกับพื้นที่ที่มีผู้ป่วยหรือผู้สงสัย ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่นหนองคาย เชียงราย พิจิตร อุตรดิตถ์ บึงกาฬ และน่าน นอกจากนี้ได้จัดทำแนวทางการตรวจวินิจฉัย การรักษาให้แก่แพทย์ พยาบาลตลอดจนการส่งต่อผู้ป่วยและทบทวนเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเพื่อเป็นแนวทางการทำงานให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลรวมถึงได้จัดหาวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันส่งให้แต่ละจังหวัดแล้วโรคนี้หากได้รับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็วจะไม่เสียชีวิต

ทั้งนี้ ได้ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั้ง 15 จังหวัด ดำเนินการตาม 6มาตรการ ดังนี้ 1.ให้ตั้งวอร์รูมเพื่อควบคุมแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้สั่งการ วิเคราะห์สถานการณ์ กำกับติดตามผลการดำเนินการในพื้นที่ที่เฝ้าระวังและให้ประชุมติดตามสถานการณ์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้งและรายงานผลที่กรมควบคุมโรคทุกสัปดาห์2.จัดระบบเฝ้าระวังเชิงรุกเกี่ยวกับอาการไข้ เจ็บคอ ฝ้าสีเทาในคอ โดยให้อสม.เคาะประตูบ้านถามอาการสัปดาห์ละ 2 ครั้งและรายงานผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหากพบผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงสอบสวนโรคทันทีและติดตามผู้ป่วยกินยาให้ครบตามกำหนด3.เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบเสริมภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนทุกคนในอำเภอที่เฝ้าระวังให้ครบภายใน2 สัปดาห์ โดยไม่เน้นประวัติการรับวัคซีนและเก็บตกในเด็กตามการให้วัคซีนระบบปกติ 4.ให้จัดอบรมทบทวนความรู้แพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเรื่องโรคคอตีบ เกี่ยวกับการวินิจฉัยการรักษา และการส่งต่อผู้ป่วยตามแนวทางที่กำหนด

5.เร่งให้ความรู้การป้องกันโรคคอตีบแก่ อสม. ประชาชน กลุ่มเสี่ยงต่างๆเช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน6.ให้แต่ละจังหวัดจัดระบบเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับมือกับเทศกาลหรือกิจกรรมที่มีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมากเช่น เทศกาลออกพรรษา เทศกาลลอยกระทง หรือเทศกาลปีใหม่โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดสื่อเผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยวในเรื่องการป้องกันโรคและอาการเบื้องต้นที่ต้องรีบพบแพทย์

ทั้งนี้ ขอให้ทุกจังหวัดนอกจาก 15 จังหวัดที่กล่าวมาติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ต้องสงสัยเพื่อให้การวินิจฉัยควบคุมได้อย่างรวดเร็วรวมทั้งการให้วัคซีนในเด็กตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนดให้ครบถ้วนสำหรับมาตรการการป้องกันโรคในประชาชน แนะนำให้เวลาไอหรือจามควรมีผ้าปิดจมูกและปาก หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เวลาไปสัมผัสสิ่งของทั่วไป