ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ชมรมโรงพยาบาล ท้วงสปส.ลดอัตราจ่ายดีอาร์จีทำให้หน่วยบริการไม่ต้องการรักษาคนไข้

นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบประกันสังคม เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่อนุมัติจ่ายเงินตามกลุ่มโรคร้ายแรง (ดีอาร์จี) ซึ่งมีน้ำหนักสัมพันธ์ของโรค (RW) เกิน 2 ให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญาในอัตรา RW ละ 1.15 หมื่นบาท ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการให้บริการ และจะไม่เอื้อให้โรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยอยากให้บริการ

นพ.กำพล กล่าวว่า เดิมบอร์ด สปส.มีมติให้จ่าย RW ละ 1.5 หมื่นบาทซึ่งถือเป็นอัตราที่เหมาะสม และสร้างแรงจูงใจให้กับโรงพยาบาลเอกชนอยากให้บริการดังนั้นการปรับลดอัตราการจ่ายลงย่อมกระทบต่อการให้บริการ สำหรับโรงเรียนแพทย์ แม้ว่าจะจ่ายในอัตรา 1.5 หมื่นบาทเหมือนเดิมก็ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แน่นอนว่าโรงเรียนแพทย์รับไม่ไหว ล่าสุดบอร์ด สปส.มีมติให้จ่ายเพียง 1.15 หมื่นบาทเท่านั้นมั่นใจว่าไม่มีโรงเรียนแพทย์แห่งใดจะยอมรับรักษาผู้ป่วยส่งต่อด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างแน่นอน

"ขนาด 1.5 หมื่นบาทโรงเรียนแพทย์ยังไม่ยอมรับ นี่ตัดลดงบลงอีก ยิ่งไม่มีทางที่จะส่งต่อไปได้แน่ ที่สำคัญระบบถูกออกแบบไว้ให้โรงพยาบาลต้นสังกัดผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายค่ารักษาให้โรงเรียนแพทย์ไปก่อน ดังนั้นภาระงบประมาณก็จะตกอยู่ที่โรงพยาบาลต้นสังกัด หมายความว่าโรงพยาบาลต้นทางต้องควักเนื้อเอง"นพ.กำพล กล่าว

นพ.กำพล กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ต้นปี2555 จนถึงปัจจุบันรวมเวลาร่วม 10 เดือนแล้ว แต่ สปส.ก็ยังไม่ได้จ่ายเงินให้กับโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลจะรักษาผู้ป่วยเต็มความสามารถต่อไป

ทั้งนี้ นพ.เหลือพร ปุณณกันต์ กรรมการการแพทย์ สปส. ระบุว่า ได้เริ่มจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลแล้ว

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 29 ตุลาคม 2555