ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รพ.เอกชนเสนอขอแก้กม.พรบ. สถานพยาบาล ธรรมนูญสุขภาพ และ พรบ.เครื่องมือแพทย์ เหตุเป็นอุปสรรคการแข่งขัน ซ้ำยังแบ่งแยกรพ.รัฐ-เอกชน ขณะที่ "รพ.กรุงเทพ" เผย ปี 55 มีผู้ป่วย ต่างชาติเข้ารักษาที่ไทย 2.5 ล้านครั้ง

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ทิศทางอนาคตธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยบริบทของประเทศไทยหลายคนมองว่าไทยมีศักยภาพ ในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ภูมิภาค เนื่องจากเรามีจุดเด่นทั้งในการแข่งขัน บริการรักษามีคุณภาพ มาตรฐาน ทั้งยังราคาถูก เพียงแต่ต้องมีการเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะมีการเปิดเสรีอาเซียนในอีก 2 ปี 6 เดือนจากนี้

ทั้งนี้เพื่อที่จะได้มีการเตรียมจัดบริการให้ทั่วถึง รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ นำเสนอแผนการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการ และแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว

จี้แก้พ.ร.บ.สถานพยาบาล

นพ.เฉลิม กล่าวว่า ในการจัดบริการสุขภาพของเอกชน ที่ผ่านมาพบว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่ส่งผลกระทบต่อเอกชน ในการแข่งขัน ทั้งยังกลายเป็นการแบ่งแยกโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน อย่างเช่น พรบ.สถานพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข มาตรา 5 ซึ่งในหลักการกำหนดให้โรงพยาบาล ทุกแห่ง ต้องมีมาตรฐานเท่ากัน แต่ด้วยจำนวนหมอที่ไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยาบาลบางแห่ง ในต่างจังหวัด ไม่มีหมอประจำอยู่ แต่หากเป็นในกรณีที่เป็นเอกชน กลับกำหนดให้ต้องมีหมอประจำ  ประเด็นนี้ส่งผลให้ต้นทุนการบริการไม่เท่ากัน เอกชนจึงมีภาระต้นทุนสูงกว่า ซึ่งมาตรานี้อยู่ระหว่างการขอแก้ไข รวมไปถึงธรรมนูญสุขภาพ โดยขอให้ยกเลิกมาตรา 51, 106 และ 109

แก้พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์

นอกจากนี้ยังขอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ โดยขอให้ยกเลิกการห้ามนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้ว ขณะที่ ต่างประเทศทั่วโลกไม่จำกัด ซึ่งการกำหนดนี้ส่งผลให้ต้นทุนการรักษาของประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่น

ทั้งนี้ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 51 ระบุว่า รัฐไม่พึงให้การสนับสนุนสิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนกับสถานพยาบาล ที่มุ่งเน้นประโยชน์ทางธุรกิจ, มาตรา 106 ที่ให้รัฐจัดระบบการเงินการคลังรวมหมู่ จากแหล่งเงินซึ่งมีการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการจัดเก็บภาษีจากบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจและสินค้าทำลายสุขภาพ และมาตรา 109 รัฐพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการการเงินการคลัง สำหรับการจัดบริการสาธารณสุขให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ โดยใช้การเงิน การคลังแบบปลายปิดที่กำหนดค่าใช้จ่ายไว้ล่วงหน้า

แนะยึดคุณภาพเลิกขายราคาถูก

นพ.ปราโมทย์ นิลเปรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ สาขากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น ผู้ป่วยโรคง่ายๆไม่มารักษา แต่ที่มาจะเป็นโรคซับซ้อนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ อย่างการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ซึ่งในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ยิ่งไม่อยากเดินทางมา ยกเว้นมีปัจจัยจำเป็น ซึ่งรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาล ที่ไม่เคยทำท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต้องเข้าใจ

ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่พยายามดำเนินนโยบายนี้ อย่างประเทศอินเดีย ที่ประสบความสำเร็จในระยะแรก เพราะเป็นการให้บริการรูปแบบเหมาจ่าย เน้นราคาถูก แต่กลับมีปัญหาในเรื่องคุณภาพ

เล็งดึงผู้ป่วยสหรัฐรักษาในไทย

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่ม ผู้ป่วยที่เดินทางมายังไทย กลุ่มใหญ่คือ ผู้ป่วยจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รองลงมาญี่ปุ่น สหรัฐ จีน และอังกฤษ โดยในปี 2556 นี้ คาดว่าจะมีผู้ป่วยในสหรัฐฯ 1.6 ล้านคน ที่ต้องบินออกมารักษานอกประเทศ

นอกจากนี้ขณะนี้เริ่มมีผู้ป่วยจากเกาหลีเริ่มมาที่ไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเกาหลีถือเป็นประเทศที่น่ากลัวในการแข่งขัน เพราะก่อนหน้านี้ การแพทย์ด้านเสริมความงาม ส่วนใหญ่จะบินไปทำที่ประเทศเม็กซิโก คอสตาริกา และไทย แต่ปัจจุบันเกาหลีแซงหน้า ไปแล้ว แต่ทั้งนี้การรักษาโรคซับซ้อนอาจเป็นสิ่งที่ยากกว่า โดยไทยสามารถให้บริการมาตรฐานเทียบเท่ากับสหรัฐฯได้ แต่ราคาถูกกว่า 50% นอกจากนี้ยังได้เปรียบในด้านภูมิประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ สะดวกในการเดินทาง "เมื่อต้นปีที่ผ่านมาสิงคโปร์ได้ฉลองตัวเลขผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ารับการรักษา 1 ล้านครั้ง ส่วนประเทศไทย ปี 2555 มีผู้ป่วยต่างชาติเข้ารักษาแล้วถึง 2.5 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่ เข้ารักษาด้วยโรคออรโธปิดิกส์ หัวใจ เสริมสวย และทำฟัน"

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า แม้ไทยจะได้เปรียบ ประเทศคู่แข่งในด้านต่างๆ แต่ก็มีปัญหาการเช่นกัน คือ นโยบายที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ภาษาไม่ดีในการสื่อสาร ขาดแคลนบุคลากร

ภก.ไชยเสน พิศาลวาเลิศ กรรมการผู้จัดการบริษัทโปรฟาสซิโน จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจยาและบริการทางการแพทย์ยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเป็นอันดับหนึ่ง เพราะมีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยตลาดยากำไรเฉลี่ย อยู่ที 6% ซึ่งเมื่อ 5 ปี ก่อนหน้านี้ยากำไรอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 6.3% ส่วนร้านยาอยู่ที่ 5.2% แต่ปัจจุบันยากำไรจากโรงพยาบาลลดลงมาอยู่ที่ 1.3% เท่านั้นถือว่าน้อย

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 ตุลาคม 2555