ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ เมื่อปีพ.ศ. 2553 โดยได้นับรวมคนไทยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย คนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยเกิน 3 เดือน ซึ่งจากข้อมูลสำมะโนประชากร พบว่า มีเด็กอายุระหว่าง 0-6 ปี อาศัยอยู่ทั้งสิ้น 5,346,592 คน แยกเป็นเด็กที่มีสัญชาติไทย 5,209,650 คน และ เป็นเด็กไม่มีสัญชาติไทย 136,942 คน

หากพิจารณาจากกลุ่มเด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทย และยังไม่ได้รับสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลและหลักประกันสุขภาพที่ปรากฎอยู่ในทะเบียนราษฎรในปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็นสี่กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่ง เด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทย แต่พ่อแม่อยู่อาศัยในประเทศไทยมานาน และได้รับการสำรวจตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มชนกลุ่มน้อยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย (เลขประจำตัวสิบสามหลักของเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วยเลข 7)

กลุ่มที่สอง เด็กกลุ่มไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่ได้รับการสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ. 2548 (เลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 0)

กลุ่มที่สาม เด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) อายุไม่เกิน 15 ปี ที่พ่อแม่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว และอยู่ระหว่างการขอพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง (เลขประจำสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 00)

และเด็กๆ ในกลุ่มที่สี่ คือเด็กๆ ในกลุ่มที่เกิดหลังจากพ่อแม่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย และไปดำเนินการแจ้งเกิด และถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรแล้ว ดังนั้น กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เด็กจะยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ

นี่คือประเด็นสำคัญ กรณีปัญหาในการเข้าถึง     บริการด้านสุขภาพที่เด็กๆ เหล่านี้ต้องพบเจอคือ

1. รัฐยังขาดนโยบายด้านหลักประกันสุขภาพ หรือไม่เอื้อต่อการเข้าถึงของกลุ่มเด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทย

2. การเข้าถึงการมีสถานะบุคคล ยังมีปัญหา การสำรวจกลุ่มผู้ตกหล่นยังไม่ทั่วถึง ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าสู่การมีสถานะทางทะเบียนและหลักประกันสุขภาพได้

3. การแจ้งเกิดเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยหลังการคลอดยังไม่ทั่วถึง มีความไม่เข้าใจของผู้ปกครอง หรือการดำเนินการระดับพื้นที่อยู่พอสมควร ส่งผลให้เด็กไม่มีสถานะหลังการเกิดได้

4. ชุมชนของกลุ่มคนที่ยังไม่มีสัญชาติบางส่วนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อเรื่องการรับบริการวัคซีนและการติดตามดูแลแม่และเด็กหลังคลอด

5. การเข้าถึงข้อมูลในหลักประกันสุขภาพยังมีไม่มาก และมีข้อจำกัดในเรื่องภาษา

6. สถานบริการมีความห่างไกลจากชุมชนในบางพื้นที่ ทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลหรือการบริการด้านสุขภาพจึงเป็นไปได้ยาก

7. ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องสิทธิและการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพยังเป็นปัญหา กีดกันการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของกลุ่มเด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทย

8. ขาดระบบฐานข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์ และงบประมาณในการให้บริการ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังมีเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยอีกจำนวนหนึ่งที่เรียนอยู่ในศูนย์การเรียนของชุมชน ทำให้เข้าไม่ถึงการสำรวจหรือมีสถานะบุคคลได้ และยังขาดการประสานงานเพื่อทำงานส่งเสริมป้องกันด้านสุขภาพในเชิงรุก อีกทั้งกลุ่มเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยมีการเคลื่อนย้ายพื้นที่อยู่อาศัยค่อนข้างมากทำให้การจัดบริการที่อิงกับภูมิลำเนา หรือที่อยู่อาศัยตามทะเบียนราษฎร อาจจะไม่สอดคล้องกับการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของเด็กกลุ่มนี้มากนัก

ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานภาครัฐที่ทำ งานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการเรื่องระบบสุขภาพให้กับเด็กๆกลุ่มนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่มีการแบ่งเชื้อชาติและสถานะบุคคล

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง