ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

WHO เตรียมยกให้โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของประชากรโลก ไต่อันดับขึ้นมาจากอันดับ6 หลังทุกประเทศลดการสูบบุหรี่ไม่ได้ แพทย์รามาฯแนะผู้ป่วยออกกำลังกายไทชิ ซี่กง ช่วยให้การรักษาโรคดีขึ้น เตรียมจัดสาธิตในวันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก 11 พ.ย.นี้

ศ.พญ. สุมาลี เกียรติบุญศรี หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมอุรเวชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูบบุหรี่ถึง 90 % ที่เหลือคือการได้รับสารพิษ 10% ส่วนใหญ่มักเกิดในคนที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป และเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยทั่วโลกมีคนเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคิดเป็น 5-8 % เฉพาะในประเทศไทยพบว่ามีคนเป็นโรคดังกล่าว 5% หรือประมาณ 1 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทย ไม่สามารถรณรงค์ให้ลดการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคได้ตามเป้าหมาย คาดว่าในปี 2563 องค์กรอนามัยโลกเตรียมจัดให้โรคดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลกเป็นอันดับ 3 จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับ 6 ในช่วงเมื่อหลาย10ปีก่อน จะเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สูงมาก

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะมีอาการหายใจ หอบ มีเสมหะมาก ไอเรื้อรัง เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพของปอดอย่างถาวร และทุกครั้งที่มีอาการกำเริบแสดงว่าปอดจะเกิดความเสียหายมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้อวัยวะอื่นๆในร่างกายเกิดปัญหาได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้ป่วยจะต้องรักษาตัวเอง หลักเลี่ยงความเสี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการกำเริบ ที่สำคัญคือการฝึกฝนออกกำลังกายให้ถูกต้อง เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้การรักษษด้วยวิธีการอื่นๆมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน ดังนั้นทางโรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้คิดค้นท่าออกกำลังกาย 9 ท่าทาง โดยดัดแปลงจากท่ารำไท้เก็กของคนจีน และเรียกว่า ไทชิ ชี่กง พบว่าได้ผลดี เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายอย่างช้าๆ ร่วมกับการหายใจอย่างถูกวิธีด้วยการสูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วค่อยๆเป่าลม ออกทางปาก โดยใช้เวลาในการออกกำลังกายดังกล่าวเพียง 35 นาที และจากการศึกษาในผู้ป่วยพบว่าทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ อวัยวะบางอย่างทำงานได้ดีขึ้น ลดอาการกำเริบได้ 25-28%

ศ.พญ.สุมาลีกล่าวต่อว่า เมื่อปี 2554 พบว่าประเทศไทยต้องจ่ายเงินเพื่อรักษาผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังสูงถึง 17,500 ล้านบาท แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ให้การรองรับว่าการออกกำลังกายไทชิ ชี่กง ทำให้อาการของโรคปอดอุดกั้นดีขึ้นจริงจึงได้บรรจุให้เป็นแนวทางหนึ่งในการดูแลผู้ป่วย แต่ไม่ได้บังคับว่าทุกโรงพยาบาลจะต้องทำแบบนี้ทั้งหมด แต่ได้ระบุว่าหากโรงพยาบาลใดสามารถดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาพดีจะได้รับค่าตอบแทนเท่าไหร่ เป้นต้น ทำให้ปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลใช้การออกกำลังกายในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น

"ในโอกาสวันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง,โก ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีจะจัดงานวิกฤติโรคถุงลมโป่งพองกับทางเลือกที่ดีกว่า ในวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ เพื่อสาธิตการออกกำลังกายให้ฟื้นฟูสมรรถภาพปอดไทชิ ชี่กง ให้กับผู้ป่วยและสร้างความตระหนักรู้ด้วย" ศ.พญ.สุมาลีกล่าว

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง