ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แพทย์ชนบทหนุนนโยบายปฏิรูป สธ. เตรียมตบเท้าพบ "หมอประดิษฐ" เร่งรัดงบ DPL กว่า 3,000 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้รพ.ชนบท หลังถูกแช่แข็งนาน พร้อมจี้แก้ปัญหาบรรจุพยาบาลและลูกจ้าง ลดภาระโรงพยาบาลขาดเงินบริการผู้ป่วย ลั่นจับตาการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิบอร์ด สปสช.คนใหม่ 19 พย.นี้ เอื้อธุรกิจเอกชนหรือไม่

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมครั้งแรกและผ่านกรอบการตั้งงบประมาณเหมาจ่าย สปสช. ปี2557 ว่า แพทย์ชนบทสนับสนุนนโยบาย รมว.สาธารณสุขคนใหม่ที่ประกาศจะปฏิรูป สธ. เพื่อลดผลประโยชน์ทับซ้อนภายในกระทรวง โดยแยกส่วนกำหนดนโยบายควบคุมระบบ (Regulator) ออกจากส่วนดูแลโรงพยาบาล (Provider) ปล่อยให้โรงพยาบาลมีอิสระมากขึ้นเหมือน รพ.บ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) ซึ่งอดีต รมว.สาธารณสุขหลายคนพยายามทำแต่ไม่สำเร็จ เพราะทนแรงต้านจากข้าราชการประจำไม่ไหว

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ชมรมแพทย์ชนบทเตรียมจะเข้าพบ รมว.สาธารณสุข เพื่อให้ข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในการใช้งบประมาณงบลงทุนทดแทนค่าเสื่อมที่ผ่านมาของกองทุนหลักประกันสุขภาพในส่วนที่ สธ.ดูแลกว่าห้าร้อยล้านบาท และให้เร่งรัดอนุมัติงบเงินกู้ DPL จำนวน 3.4 พันล้านบาท เพื่อซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและสถานีอนามัยในชนบทที่ถูกแช่เย็นในสมัยอดีต รมว.สาธารณสุขที่ผ่านมา

"นอกจากนี้ จะขอให้ รมว.สาธารณสุข รีบแก้ไขปัญหาการบรรจุพยาบาลและลูกจ้างอื่นกว่าสองหมื่นคน เพื่อลดภาระเงินบำรุงขาดทุนของโรงพยาบาลในขณะนี้ ก่อนที่โรงพยาบาลในชนบทจะไม่มีพยาบาลและเงินบำรุงไว้บริการผู้ป่วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลขนาดเล็กทั่วประเทศ จากปีนี้ที่ได้งบเหมาจ่ายรายหัวน้อยลง แต่มีค่าใช้จ่ายประจำสูงขึ้นตามนโยบายรัฐบาล และงบลงทุนซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นและขาดแคลน ถูกอดีต รมว.สาธารณสุขแช่แข็งโดยไม่ทราบสาเหตุ" ปธ.ชมรมแพทย์ชนบท กล่าว

ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบทจะจับตาเรื่องการคัดเลือกแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทย์แผนไทยคนใหม่ในบอร์ดสปสช. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 พ.ย.นี้ ว่า รมว.สาธารณสุข จะตั้งพวกพ้องที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เหมือนอดีตรัฐมนตรีที่ผ่านมาหรือไม่ หรือตั้งผู้มีความรู้ ความสามารถ เข้าใจ และสนับสนุนการพัฒนาระบบบัตรทอง ซึ่งการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่จะเป็นบทพิสูจน์เบื้องต้นว่า รมว.สาธารณสุขคนใหม่ที่ประกาศนโยบายปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข และจะพัฒนาสร้างความเท่าเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นของแท้หรือเป็นเพียงรัฐมนตรีนอมินีของธุรกิจเอกชน