ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการและพนักงานจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ประสบปัญหาการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล มีกรณีตัวอย่าง เช่น นางณัฐพร ภูศรีฤทธิ์ อดีตปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สำโรง อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น เสียชีวิต เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา และ น.ส.จารุวรรณ ชื่นจิตร อดีตปลัด อบต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เสียชีวิต เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 ราย ต้องใช้เงินรักษาพยาบาลโรคมะเร็งเดือนละประมาณ 120,000-150,000 บาท แต่ประสบปัญหาการเบิกจ่ายตรง และร้องทุกข์มายังสมาคมข้าราชการฯ ขอให้ผลักดันการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเบิกจ่ายตรงเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน

"ล่าสุด เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เชิญนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย สมาคม อบต. แห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการ อบจ.แห่งประเทศไทย สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมลูกจ้าง อบจ.แห่งประเทศไทย สมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย ร่วมประชุม ก่อนมีมติร่วมกันเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามหลักการเดิมที่ สปสช.เสนอ โดยให้ใช้ชื่อร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2555 โดยมีสาระสำคัญให้สำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สถ. เสนอขอรับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จากคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ จัดสรรให้กองทุนในอัตรา 9,900 บาท ต่อคน/ต่อปี กรณีมีเงินกองทุนเหลือจ่ายให้นำไปสมทบในปีถัดๆ ไป กรณีไม่เพียงพอ ให้ขอเพิ่มเติมจากรัฐบาล" นายพิพัฒน์กล่าว และว่า

สำหรับผู้มีสิทธิเบิกจ่ายเงินกองทุนดังกล่าว ได้แก่ ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำและครอบครัว ในสังกัด อบจ. เทศบาล และ อบต. มีสิทธิเบิกจ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย หากไม่มีปัญหา พ.ร.ก.ฉบับนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 หรือปีงบประมาณ 2557

--มติชน ฉบับวันที่ 13 พ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--