ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

6 สภาองค์การแรงงานบุกยื่น "เผดิมชัย" จี้ให้กระทรวงแรงงานจัดระเบียบระบบไตรภาคีทั้ง 19 คณะของกระทรวงแรงงาน หลังมีการบล็อกโหวตในการพิจารณาหลายเรื่อง โดยเฉพาะคณะกก.ไตรภาคีบอร์ดค่าจ้าง-และบอร์ดประกันสังคม  เลือกคนที่เป็นตัวแทนจากลูกจ้างอย่างแท้จริง ไร้การผูกขาด ปิดช่องหาประโยชน์

นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายแรงงานได้เข้ายื่นข้อเสนอเพื่อให้มีการจัดระเบียบระบบไตรภาคี ซึ่งมาเป็นกรรมการในบอร์ดของกระทรวงแรงงานทั้ง 19 คณะเพื่อป้องกันปัญหาการล็อบบี้การเลือกตั้งสหภาพแรงงานเข้ามานั่งเป็นบอร์ด โดยที่ขณะนี้ 6 สภาองค์การลูกจ้างซึ่งประกอบด้วยสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย พวกเราได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) แล้ว เพื่อให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระบบไตรภาคีใน 7 ประเด็น ได้แก่

1. ระยะยาวการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 84 (7) ระบุว่า ระบบไตรภาคีให้มาจากผู้ทำงานมีสิทธิ์เลือกผู้แทนตนเองเพื่อให้เกิดการคัดเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างโดยตรงและทางอ้อม แต่ปัญหาคือรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวิธีการที่ป้องกันการบล็อกโหวต เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายมีฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล เพื่อแก้ไขปรับปรุงระเบียบวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีทุกคณะที่เป็นตัวแทนของลูกจ้างอย่างแท้จริง  2.ระยะสั้นให้จัดระบบสัดส่วนผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกผู้แทนนายจ้างและลูกจ้าง ควรคำนึงถึงสมาชิกองค์กรที่มีสมาชิก 100 คนให้มีสิทธิ์ 1 เสียง เพื่อป้องกันการจัดตั้งแบบซอยย่อย หรือจัดตั้งองค์กรขนาดเล็กจำนวนมาก 3.กำหนดความรู้ความสามารถของผู้ที่จะมาเป็นผู้แทนนายจ้างและลูกจ้างให้เหมาะสมกับภารกิจไตรภาคี และมีอายุไม่เกิน 60 ปี 4.กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งคณะอนุกรรมการไตรภาคี 1 คนเป็นได้ 1 คณะเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันอนุกรรมไตรภาคี 1 คนสามารถเป็นไปถึง 3-4 คณะซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนรับเบี้ยประชุมทุกคณะ อีกทั้งกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 วาระเท่านั้น

5.กำหนดให้มีคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายที่ดูแลรับสมัครและจัดการเลือกตั้งให้ทำหน้าที่แบบคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) 6. ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคี รัฐบาลจะต้องกำหนดวันรับสมัครและวันเลือกตั้งให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนและการใช้สิทธิ์แทนกัน และ7.กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมทั้ง 77 จังหวัดเป็นสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีทุกชุด

"หากไม่มีการแก้ระเบียบและทำตามข้อเสนอข้างต้น ปัญหาเรื่องการบล็อกโหวตจะไม่เปลี่ยนแปลงและทำให้ผู้นำแรงงานบางคน เข้ามาเป็นกรรมการในลักษณะผูกขาดทุกสมัยและอาจจะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องโดยที่ไม่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคณะกรรมการไตรภาคีในบอร์ดประกันสังคมและบอร์ดค่าจ้าง ทั้งนี้ รมว.แรงงานเห็นด้วยกับเรื่องนี้พร้อมกับได้สั่งการให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)ไปตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขระเบียบการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีทุกชุด" นายมนัส กล่าว

ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังรับหนังสือจาก นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทยและคณะว่า ตนพร้อมรับข้อเสนอทั้งหมดไปศึกษาและพิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และพร้อมให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย โดยจะให้เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555