ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแจงกรณีโรงพยาบาลกักศพชาวเล อย่าพูดผ่านสื่ออย่างเดียว ต้องแจ้งส่วนกลาง ยืนยันโรงพยาบาลรัฐรักษาคนไม่เลือกชนชั้น จัดงบให้ปีละ 400 ล้าน

นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการให้บริการสาธารณสุขแก่กลุ่มคนไร้สถานะ ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ว่า แม้ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค จะครอบคลุมเพียงบุคคลที่มีบัตรประจำตัวประชาชน แต่โดยหลักแพทย์ไม่สามารถปฏิเสธคนไข้ได้ ซึ่งไม่ว่าใครจะมีบัตรประจำตัวประชาชนหรือไม่ ยากจนแค่ไหน เมื่อเจ็บป่วยมาต้องได้รับการรักษาทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มคนไร้สถานะ หรือที่รู้จักว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่อยู่ตามชายแดน ทั้งกัมพูชา ลาว พม่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีเงินในการรักษาต้องข้ามประเทศมารักษาในไทย นอกจากนี้ ยังมีที่เป็นชาวไทยภูเขา แต่ไม่มีเลข 13 หลัก ซึ่งก็ไม่มีสิทธิ 30 บาทเช่นกัน และ 2.กลุ่มที่อยู่กลางประเทศ เช่น สมุทรสาคร ระยอง กลุ่มนี้มีจำนวนมาก และพอมีเงิน เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานถูกกฎหมาย มีเพียงร้อยละ 4-7 ที่จ่ายเงินไม่ครบ แต่ทั้งหมดโรงพยาบาลต่างๆ ก็ล้วนต้องรักษา ทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ขาดทุนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของแรงงานต่างด้าว แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะ เป็นเรื่องของมนุษยธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้เกิดปัญหามีนักวิชาการและกลุ่มคนชายขอบ โดยเฉพาะชาวเล ออกมาร้องเรียนว่า โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่อนุญาตให้ชาวเลคนหนึ่ง ใน จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นคนไร้สถานะ ไม่มีบัตรประชาชน ที่เสียชีวิตนำศพออก เพราะไม่จ่ายค่ารักษา จะดำเนินการอย่างไร นพ.ชาญวิทย์กล่าวว่า ไม่น่าใช่ เรื่องนี้หากเป็นจริง ไม่อยากให้ออกมาพูดผ่านสื่ออย่างเดียว แต่หากต้องการให้ปัญหาคลี่คลายในภาพรวม ไม่ใช่ร้องแค่โรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง ขอให้เข้ามาร้องเรียนที่ส่วนกลาง ทางสำนักปลัด สธ.จะทำการตรวจสอบ เพราะหากฟังเพียงข่าวที่ออกตามสื่อ ไม่มีข้อมูล ก็ติดตามยาก ดังนั้น ขอให้นำข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเข้ามาที่ สธ. เพื่อจะได้ให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ออกข่าวเท่านั้น

"ที่ผ่านมาโรงพยาบาลรับภาระในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้มาตลอด แต่ก็ต้องทำ ซึ่งรัฐบาลก็มีงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สถานะปีละราว 400 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอ แต่โรงพยาบาลก็ยังต้องให้บริการอยู่เหมือนเดิม" รองปลัด สธ.กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) รายงานว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยมีอยู่ประมาณ 3.6 ล้านคน แบ่งเป็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เช่น คนกลุ่มน้อย ชาวเขา คนไร้รัฐ จำนวน 513,792 คน ผู้อพยพลี้ภัยตามค่ายอพยพชายแดนไทย-พม่าอีกราว 137,815 คน ชาวต่างด้าว เข้าเมืองถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานอีก 839,913 คน แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยอีก 886,507 คน และแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงานอีก 1,339,986 คน และอื่นๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555