ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยาฯ คุมเข้มการใช้ยาในกลุ่มสิทธิ 'ข้าราชการ' เล็งส่งหนังสือถึงกรมบัญชีกลางถอนประกาศ 3 ข้อ เริ่มต้นใหม่ 1 ม.ค.56

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ ว่า ข้อสรุปที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ มี 3 ส่วนหลักเพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้แก่ 1.ให้ใช้ยากลูโคซามีนซัลเฟตได้ตามข้อบ่งชี้และมาตรฐานทางการแพทย์ โดยจัดทำราคากลางเพื่อใช้สำหรับการเบิกค่ายา เนื่องจากในตลาดราคายาชนิดนี้มีความแตกต่างกันตั้งแต่ 6-50 บาท หากใช้ยาชนิดนี้ยี่ห้อที่มีราคาแพงกว่าราคากลางผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเองซึ่งถือเป็นแนวทางที่แตกต่างจากเดิมที่กรมบัญชีกลางออกประกาศห้ามไม่ให้มีการเบิกจ่าย

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า 2.ประกาศกรมบัญชีกลางเรื่อง 1 โรงพยาบาล 1 โรคเรื้อรัง หรือ 1 โรงพยาบาล หลายโรคเรื้อรัง มีมติให้ยกเลิกเช่นเดียวกัน เพราะเกรงจะส่งผลให้เกิดความแออัดในสถานพยาบาลขนาดใหญ่มากขึ้น โดยเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาผู้ป่วยวนรับยาในหลายสถานพยาบาล ระยะสั้น ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ไม่ใช่สถานพยาบาลหลักต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล ส่วนในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลแต่ละสถานพยาบาลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าผู้ป่วยแต่ละรายรับยาชนิดไหนจากที่ใด จำนวนเท่าใด และหากพบความผิดปกติในการใช้ยาที่สถานพยาบาลใดจะเข้าตรวจสอบ และ 3.ประกาศกรมบัญชีกลางเรื่อง การระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่าย เห็นชอบให้มีการเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าให้อนุญาตให้ใช้ได้ตามข้อบ่งชี้ทางวิชาชีพที่มีผู้เชี่ยวชาญ อาทิ อธิบดีกรมการแพทย์ หรือราชวิทยาลัยให้คำแนะนำ

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการยังมีมติในส่วนของการควบคุมราคายา โดยจะมีการกำหนดราคากลาง และต่อรองราคายาให้ถูกลง สำหรับปัญหาสถานพยาบาลจัดซื้อยาของผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการแพงกว่ากองทุนประกันสุขภาพอื่น จะดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้สถานพยาบาลสามารถคืนยาได้ หากตรวจสอบพบว่าซื้อในราคาที่แพงกว่าสิทธิอื่น จากนั้นกรมบัญชีกลางอาจซื้อยาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แล้วจัดสรรให้กับสถานพยาบาล หรือสถานพยาบาลซื้อจาก อภ.โดยตรงในราคาที่เท่ากับการจัดซื้อของกองทุนสุขภาพอื่น แต่หากไม่สามารถแก้กฎระเบียบจะดำเนินการต่อรองราคาเพื่อให้ราคาถูกลง หากไม่ได้ผลจะจัดหาแหล่งจำหน่ายยาแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่า หรือประกาศสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) ในยาที่จำเป็น แต่ขณะนี้ยังไม่มีนโยบาย และว่า มติดังกล่าวจะแจ้งให้กรมบัญชีกลางทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย รวมทั้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2556

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555