ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รุมสวด "ประดิษฐ" ไฟเขียวเบิกยาข้อเข่าเสื่อมทำรัฐสูญงบประมาณ

ประชาคมสาธารณสุขทั้งกรรมการหลักประกันสุขภาพและนักวิชาการด้านยาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้กรมบัญชีกลางยกเลิกมาตรการห้ามข้าราชการเบิกจ่ายยากลูโคซามีน หรือยารักษาข้อเข่าเสื่อมที่เดิมทีภาครัฐต้องการประหยัดงบประมาณสวัสดิการข้าราชการลง

ทั้งนี้ การฟื้นนโยบายนี้ให้ข้าราชการสามารถเบิกยาชนิดดังกล่าวได้อีกครั้ง ยังส่งผลต่อนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ3 กองทุนสุขภาพอีกด้วย ขณะเดียวกันอาจเป็นการทำให้บริษัทยาข้ามชาติได้รับประโยชน์ "อยากถามรัฐมนตรีที่เป็นหมอว่าเอาข้อมูลวิชาการจากไหนมาใช้ตัดสินใจเพราะขนาดสหรัฐยังจัดกลูโคซามีนเป็นเพียงอาหารเสริมประเภทหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ยารักษาโรค" น.ส.บุญยืน ศิริธรรม กรรมการหลักประกันสุขภาพ (บอร์ด สปสช.) ระบุ

น.ส.บุญยืน กล่าวอีกว่า การสั่งข้ามกระทรวงของ นพ.ประดิษฐ ในครั้งนี้จะทำให้ประเทศต้องเสียเงินงบประมาณปีละกว่า 700 ล้านบาท ทั้งๆ ที่รัฐบาลเพิ่งประกาศนโยบายลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการข้าราชการในที่สุดนโยบายลดความเหลื่อมล้ำก็เป็นเพียงราคาคุย

นอกจากนี้ การตัดงบเหมาจ่ายในระบบบัตรทองจะยิ่งทำให้ระบบกลายเป็นอนาถาและผลักผู้ป่วยให้ไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น

นพ.วิชัย โชควิวัฒน บอร์ด สปสช. กล่าวว่า แนวคิดจะยกเลิกกองทุนย่อยต่างๆสปสช. ของ นพ.ประดิษฐ เป็นนโยบายถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ เพราะการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เอดส์หัวใจ มะเร็ง โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย ต้อกระจก โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง มีกองทุนย่อยเป็นเครื่องมือสำคัญในการจ่ายค่าชดเชยและควบคุมค่าบริการไม่ให้สูง

"อยากฝากคุณหมอประดิษฐให้ใช้อำนาจที่มีเพื่อประโยชน์ผู้ป่วยอย่าทำให้บัตรทองกลายเป็นระบบอนาถา เพราะจะผลักผู้ป่วยให้ไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเหมือนในอดีต" นพ.วิชัย กล่าว

ขณะที่ ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ นพ.ประดิษฐกำลังทำให้ระบบสุขภาพกลับมาสู่จุดเดิมด้วยการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐมนตรี นักวิชาการจำนวนมากที่ทำงานหนักในเรื่องนี้กลับไม่จำเป็น เพราะถูกล้มเอาตอนสุดท้าย

ทั้งนี้ ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ รมว.สาธารณสุข ได้นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป ในประเด็นสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องยา เข้าหารือและรับฟังข้อกังวลเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลด้านยาซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการผลิตยาต้นแบบและราคาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ได้โทรศัพท์สอบถามเรื่องนี้กับ นพ.ประดิษฐ แต่ไม่สามารถติดต่อได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555