ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประกันสังคมแฉแหลกโครงการปฏิรูปประชาสัมพันธ์ใช้งบ 280 ล้านบาท ไม่ชอบมาพากล ขนาดอัยการสูงสุดยังท้วงติงสัญญาว่าทำให้ สปส.เสียเปรียบยังเมินเฉย

แหล่งข่าวจากสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เปิดเผยว่า มีความไม่โปร่งใสการดำเนินงานโครงการปฏิรูประบบประชาสัมพันธ์เพื่องานประกันสังคม(ยุคใหม่) วงเงินประมาณ 280 ล้านบาท ที่มีการว่าจ้างธุรกิจค้าร่วม เอส.เอส.ซี. ซึ่งประกอบด้วย 3 บริษัท คือ 1.บริษัท สตรีม ไอ.ที.คอนซัลติ้ง โดยมี นายวิชชุ จารุจันทร และนายสมคบ เทียนทอง เป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน 2.บริษัท ไชยกาญจน์ คอนเซาท์ติ้ง ที่มีนายชัตทัต แซ่ตั้ง เป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันและ 3.บริษัท เอสไอมีเดีย มีนายศรทัตต์ รัตนเวคินรักษ์ และนายสุรสีห์ ปัญจสังข์ เป็นผู้มีอำนาจลงนาม

ทั้งนี้ เนื่องจากว่ามีการเปิดทางให้ผู้ชนะการประมูลมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งๆ ที่บริษัทดังกล่าวยังไม่มีการเซ็นสัญญากับ สปส. แต่บริษัท ธุรกิจร่วมค้า เอส.เอส.ซี ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนรื้อตกแต่งพื้นที่บริเวณชั้น 1 อาคารศูนย์คอมพิวเตอร์

"แม้ยังไม่มีการเซ็นสัญญาแต่บริษัทดังกล่าวอาศัยความสัมพันธ์กับนักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงของ สปส.ขออนุมัติเข้ามาดำเนินการแล้ว นี่คือความไม่ชอบมาพากลอันดับแรก" แหล่งข่าวเปิดเผย

ความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินการประการต่อมา คือ เมื่อกองนิติการของสปส.ได้ส่งร่างสัญญารายละเอียดโครงการ (ทีโออาร์) ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบสัญญา ปรากฏว่าสำนักงานอัยการระบุว่าสัญญาทีโออาร์ในการว่าจ้างดังกล่าวทำให้ สปส.เสียเปรียบมาก พร้อมทั้งได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการ เช่น ในสัญญาไม่มีระบุความรับผิดชอบของทั้ง 3 บริษัท ขาดหลักเกณฑ์การบอกเลิกสัญญา ขาดรายละเอียดการติดตั้งจุดให้บริการ และการจ่ายเงิน

"ขณะนี้ใน สปส.เกิดความปั่นป่วนเพราะเห็นความไม่ชอบมาพากลในการใช้เงินของโครงการนี้ แต่ละหน่วยงานก็ไม่กล้าที่จะดำเนินการใดๆ เพราะเกรงว่าผิดกฎหมาย ขณะที่กองการคลังได้ทำหนังสือมาถึงกองนิติการเพื่อสอบถามว่าให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการก่อนการเซ็นสัญญาได้หรือไม่ ซึ่งกองนิติการก็ส่งหนังสือตอบกลับชัดเจนว่า หากยังไม่มีการเซ็นสัญญาไม่ควรอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เพราะอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นมาได้ และหากเอกชนมีการทิ้งงานก็อาจจะมีปัญหาฟ้องร้องเกิดขึ้นได้" แหล่งข่าวเปิดเผย

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่าขณะนี้ สปส.กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และทำทุกอย่างตามขั้นตอนปกติ มีการส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ซึ่งอัยการพิจารณาเสร็จแล้วก็ไม่มีความคิดเห็นอะไรเพิ่มเติม และยังไม่ได้มีการทุบหรือแก้ไขสถานที่ก่อสร้างโครงการ เป็นเพียงการสำรวจพื้นที่อาคารเฉยๆ เท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555