ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่จาก WHO Technical Assistant Group (TAG) ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมองค์การเภสัชกรรม เพื่อประเมินภาพรวมการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขององค์การในการดำเนินงานโครงการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย และการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกระดับอุตสาหกรรม ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี รวมทั้ง Pilot Plant ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผู้อำนวยการอภ. เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของการเดินของทางของคณะเจ้าหน้าที่ WHO ที่เดินทางมาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้ให้การสนับสนุนทุนแก่องค์การ ในการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะที่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายหรือวัคซีนชนิด เชื้อเป็น ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้มาดูความคืบหน้าว่ามีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง ทั้งความคืบหน้าของการก่อสร้างโรงงาน ที่ทับกวาง จ.สระบุรี ความคืบหน้าของงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดูคุณภาพของงานและแผนการทำงานที่ทำว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาด้านใดบ้าง มีอุปสรรคตรงไหนบ้าง และ WHO สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างไร และหลังจากการเข้าตรวจเยี่ยมครั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ WHO จะนำผลการประเมินดังกล่าวไปรายงานให้ WHO สำนักงานใหญ่ทราบ และแจ้งผลมายังองค์การต่อไป

ผู้อำนวยการอภ. กล่าวต่อไปว่า จากการฟังผลสรุปในเบื้องต้นทาง WHO มีความพอใจมากไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างที่ จ.สระบุรี และการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่pilot plant ขององค์การ ที่ ม.ศิลปากร และคิดว่าโครงการนี้ค่อนข้างที่จะท้าทาย เพราะตามปกติประสบการณ์ของ WHO แล้วตามปกติ ในการที่จะพัฒนาในลักษณะแบบนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ในขณะที่องค์การไม่เคยทำมาก่อน แต่องค์การพยายามตั้งเป้าหมายที่จะให้เสร็จโดยเร็วในระยะเวลา 5 ปี ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก ซึ่งหวังว่าในการมาครั้งต่อไปในอีก 1หรือ 2 ปี ถึงตอนนั้นองค์การ คงมีความคืบหน้าไปมาก   ซึ่งขณะนี้โครงการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 53% เพราะตามแผนขององค์การ ในปี 2557 จะเริ่มการทดลองผลิตได้ “การก่อสร้างโครงการวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก มีจุดประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของประเทศในยามที่เกิดการระบาด หากมีการระบาดใหญ่ขึ้นมาไม่มีใครมาช่วยได้ เราต้องช่วยตัวเราเอง ดังนั้นโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการที่แรกที่มีการผลิตวัคซีนครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ องค์การเภสัชกรรมจะช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะการทำให้โรงงานแห่งนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานองค์การอนามัยโลก(WHO – GMP ) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ผู้อำนวยการกล่าว