ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ ผลักดันนักเวชนิทัศน์ พัฒนาตนเองเพื่อให้มีคุณภาพในการทำงาน พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน แนะพัฒนาตนเองด้านวิชาความรู้ โดยเฉพาะด้านภาษาต่างประเทศ ระบุยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านเวชนิทัศน์อีกมาก ดันเปิดระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อรองรับความต้องการ

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวภายในงานประชุมวิชาการเรื่อง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 2 วานนี้ (22 พ.ย.)ว่า ในอนาคตอยากให้มีการเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา หรือ ระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอกในสาขาเวชนิทัศน์ ซึ่งเป็นสาขาที่มีความสำคัญกับ วงการแพทย์และวงการสาธารณสุขอย่างยิ่ง เพราะเป็นคนที่คอยผลิตสื่อให้กับแพทย์ พยาบาล และคนที่ทำการรักษา เพื่อให้ทำการรักษาง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวมทั้งการเรียนการสอนด้านการแพทย์ก็จะดีขึ้นด้วย

ปัจจุบัน การผลิตบัณฑิตในสาขาวิชานี้ยังมีน้อย ทั้งที่เป็นอาชีพที่มีความจำเป็น และมีความต้องการอย่างมาก โดยอยากจะได้นักเวชนิทัศน์ที่มีความรู้เฉพาะทาง เฉพาะด้าน เพื่อพัฒนาวงการสื่อ ด้านเวชนิทัศน์ให้ก้าวไปไกลมากยิงขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)นั้น หากมีการไหลเข้ามาของอาชีพแพทย์และพยาบาล นักเวชนิทัศน์ของไทยก็จำเป็นในการผลิตสื่อเพื่อให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น เพราะหากสื่อที่ออกมา ไม่สอดคล้องหรือไม่สามารถสื่อสารเข้าใจได้ในวง กว้างก็จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่ดีนัก แต่ถ้าหาก นักเวชนิทัศน์ของไทยสามารถผลิตสื่อด้านนี้ได้ดีก็จะเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพและก้าวสู่สากลได้มากยิ่งขึ้นด้วย

ทางด้าน ผศ.ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ หัวหน้าสถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ และ ผู้อำนวยการโรงเรียนเวชนิทัศน์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ศิริราชพยาบาลถือเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนด้านเวชนิทัศน์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และ ปัจจุบันได้ผลิตบัณฑิตออกมาหลายรุ่น แต่ยังมีจำนวนน้อยอยู่ เพราะผลิตได้ปีละไม่มากนัก

นักศึกษาที่จะมาเรียนสาขานี้ได้นั้น ต้องผ่านการคัดสรร เลือกเฟ้นเป็นพิเศษ เพราะคนเรียนจะต้องมีความสามารถด้านศิลปะ การทำสื่อ และเรียนรู้เรื่องพื้นฐานด้านการแพทย์ด้วย เพื่อให้ได้รู้เนื้อหาและข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงของสาขาวิชาการแพทย์ เพื่อจะได้เป็นผู้ช่วยแพทย์ได้อย่างแท้จริง

อนาคตหากมีการร่วมมือกันระหว่างสถาบันอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะมีการเปิดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาก็จะมีโอกาส แต่ปัญหาในขณะนี้ที่พบคือ มีอาจารย์ที่จบปริญญาเอกด้านเวชนิทัศน์นี้น้อย ทำให้ยังเป็นอุปสรรคสำหรับการเปิดในระดับบัณฑิตศึกษาอยู่

"ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่ผลิตบัณฑิตด้านเวชนิทัศน์  ซึ่งหากไทยผลิตบัณฑิตด้าน นี้ให้มีคุณภาพ และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี รับรองว่าจะเป็นที่ต้องการของประชาคมอาเซียนอย่างมากแน่นอน" ผศ.ดร.นพพล กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555