ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกแห่งความขัดแย้งอีกครั้ง ถึงแม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่บุคลากรสาธารณสุขจะลุกฮือเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในการประกอบวิชาชีพ แต่ก็นับเป็นงานที่เจ้ากระทรวงอย่าง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรี สธ.คงต้องกุมขมับนั่นเพราะปัญหาข้อเรียกร้องของกลุ่มพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวราว 17,000 คน ที่รอการบรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่ปี 2547 เรียกร้องขอตำแหน่งมาโดยตลอด ยังยืนยันต้องการบรรจุเป็นข้าราชการเท่านั้น แม้ สธ.จะมีแนวทางแก้ไขโดยดันร่างระเบียบปรับสถานภาพลูกจ้างชั่วคราวเป็น "พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.)" แต่ไม่เป็นผล โดยชัดเจนว่าหากไม่ได้บรรจุจะพร้อมใจกันหยุดงานประท้วง ซึ่งจะเห็นผลหลังเดือนมกราคม 2556 งานนี้ไม่ว่าจะขู่จริงหรือไม่ ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริการผู้ป่วย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่กลุ่มพยาบาลนับเป็นบุคลากรสาธารณสุขด่านแรกในการให้บริการ

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถทำได้ โดย สธ.ก็จะมีแผนรองรับเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ อยากให้เข้าใจว่า การบรรจุเป็นข้าราชการไม่สามารถบรรจุได้หมดในครั้งเดียว เพราะ สธ.ต้องดูแลทุกสายงานทั้ง 21 สายงาน การจะบรรจุเพียงวิชาชีพพยาบาลอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยระหว่างรอจะมีการปรับสถานภาพของลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นพนักงาน ก.สธ. ซึ่งจะมีสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่แตกต่างจากข้าราชการ โดยระเบียบดังกล่าวจะเน้นความมั่นคงในการทำงาน สวัสดิการให้ครอบครัว ขณะนี้ได้เปิดโอกาสให้ลูกจ้างชั่วคราวทุกวิชาชีพเสนอข้อคิดเห็นเข้ามาได้ จึงอยากให้ลองพิจารณาเรื่องนี้

ทั้งนี้ ร่างระเบียบพนักงาน ก.สธ.ในการประชุมชี้แจงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มอบให้วิชาชีพต่างๆ 21 สายงาน ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ เพื่อพิจารณา อาทิ อัตราค่าตอบแทนสูงหรือการจ้างงานสูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า การเติบโตในสายงานจะเทียบเท่าข้าราชการ โดยจะมีการประเมินตามภาระงาน พร้อมทั้งจะขึ้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปี มีค่าประสบการณ์อีกไม่เกินร้อยละ 5 ต่อการทำงาน 2 ปี หรือร้อยละ 2.5 ต่อปี ขณะที่สัญญาจ้างงานจากปีต่อปี เป็นสัญญา 4 ปีแทน การรักษาพยาบาลระบุเพียงจะมีการปรับสิทธิให้เท่าเทียมกันทุกระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ส่วนการลาป่วย ลากิจ ใช้ข้อบังคับเดียวกับข้าราชการ ฯลฯ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบราว 1,700 ล้านบาทต่อปี

นายวรรณชาติ ตาเลิศ เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว เห็นว่า ร่างระเบียบนี้เป็นร่างระเบียบของ สธ.ที่ต้องได้รับการอนุมัติงบจากกระทรวงการคลัง ซึ่งนำมาใช้เป็นเงินบำรุงให้กับโรงพยาบาล หมายความว่า การบริหารจะเป็นรูปแบบเดิม ความมั่นคงจึงเกิดยาก ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการต่างๆ นั้น มองว่ายังมีช่องโหว่และไม่เป็นธรรม ซึ่งในการประชุมที่ สธ.เชิญตัวแทนวิชาชีพ โดยส่วนใหญ่เป็นระดับเจ้าหน้าที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ไม่มีความชัดเจนว่า เมื่อแต่ละสาขาวิชาชีพเสนอความเห็นจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ สรุปคือไม่มีอะไรชัดเจนเลย ซึ่งข้อเสนอเพิ่มเติมนั้น เครือข่ายมองว่า การเลื่อนเงินเดือนปีละไม่เกินร้อยละ 6 ควรเปลี่ยนใหม่ เพราะไม่ได้ระบุอัตราการเลื่อนขั้นต่ำขั้นสูง ซึ่งในอนาคตอาจไม่เลื่อน หรือเลื่อนเพียงร้อยละ 1 ก็เป็นได้ ซึ่งไม่เป็นธรรม จึงควรระบุว่าให้เลื่อนขั้นต่ำร้อยละ 3 และขั้นสูงไม่เกินร้อยละ 6

ส่วนสัญญาจ้าง 4 ปีนั้น มองว่าควรทำสัญญาแบบขั้นบันได โดยสัญญาแรกเป็น 4 ปี จนถึง 10 ปีให้บรรจุเป็นพนักงานจนอายุ 60 ปีให้เกษียณเหมือนราชการ ส่วนค่าประสบการณ์จากที่กำหนดให้ร้อยละ 2.5 ต่อปี ควรเพิ่มเป็นร้อยละ 3 ต่อปี แต่ทั้งนี้ ในภาพรวมมองว่า หากงบยังเป็นเงินบำรุงที่ให้โรงพยาบาลบริหารเองย่อมไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมานาน 7-8 ปี ควรได้บรรจุเป็นข้าราชการเสียที

ด้าน นายจักรี กั้วกำจัด สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพมหานคร และ น.ส.วรรณวิภา ศรีหอมชัย ประธานภาคกลางเครือข่ายพยาบาลล้วนไม่ต้องการร่างระเบียบพนักงาน ก.สธ. แม้จะให้เสนอความคิดเห็น เพราะสุดท้ายอาจไม่เป็นไปตามนั้น ที่สำคัญยังเป็นงบจากเงินบำรุงให้โรงพยาบาล ข้อนี้สำคัญ เพราะหากโรงพยาบาลใดประสบปัญหาขาดสภาพคล่องก็ย่อมไม่สามารถจ่ายได้ตามจริง โรงพยาบาลไหนไม่มีปัญหาก็จ่ายได้ เห็นได้จากปัจจุบันเงินเดือนยังไม่เท่ากันเฉลี่ย 9,000-15,000 บาทต่อเดือน ค่าโอทียังค้างจ่าย บางแห่งค้างข้ามปี แม้จะออกระเบียบใหม่แต่สุดท้ายการบริหารแบบเดิม ปัญหาก็ไม่จบสิ้น ความมั่นคงก็ไม่ได้อยู่ดี

ทั้งคู่ย้ำว่า ร่างระเบียบใหม่เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อจากพนักงานลูกจ้างชั่วคราว เป็นพนักงาน ก.สธ.ไม่ได้ช่วยอะไร สิ่งสำคัญควรเยียวยาตามข้อเรียกร้องของพยาบาลที่ประสบปัญหาก่อน เพราะทำงานมานานกว่า 7 ปี รอคอยตำแหน่งมาตลอด การจะเปลี่ยนสถานะใหม่ถือว่าไม่ถูกต้อง หากจะเปลี่ยนเป็นพนักงาน ก.สธ.ควรรองรับพยาบาลจบใหม่มากกว่า

รศ.จินตนา ยูนิพันธุ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย บอกว่า ปัจจุบันบุคลากรทุกสาขาวิชาชีพที่ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวรอการบรรจุประมาณ 30,000 ตำแหน่ง โดย สธ.จะหาตำแหน่งบรรจุกลุ่มลูกจ้างที่ทำงานมานานหลายปีตั้งแต่ปี 2549-2551 ประมาณ 11,000 คน เป็นอันดับแรก เริ่มบรรจุเป็นข้าราชการได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2556 ประมาณ 4,000 ตำแหน่ง ปัญหาคือ อัตราตำแหน่งดังกล่าวรวมทุกวิชาชีพ ไม่ใช่พยาบาลที่ประสบปัญหา จึงอยากให้รัฐมนตรี สธ.แก้ปัญหาให้ตรงจุด

แม้ร่างระเบียบพนักงาน ก.สธ.จะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ช่องโหว่ที่เครือข่ายพยาบาลฯไม่เห็นด้วย และยืนยันความต้องการบรรจุเป็นข้าราชการอย่างเดียว

เรื่องนี้คงต้องสร้างความเข้าใจกันก่อน อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลาม เพราะท้ายที่สุดผู้ป่วยจะรับผลกระทบไปเต็มๆ...

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 พฤศจิกายน 2555