ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"หมอรักษาโรค หรือ รักษาคนไข้" คำถามนี้กลายเป็นหัวข้อหลักของการผลิตแพทย์ทั่วโลกสถาบันการศึกษาแพทย์หลายประเทศให้ความสนใจวิธีคิดและวิธีรักษาคนป่วยด้วยวิถีการใหม่ เน้นผลิตหมอรักษาผู้ป่วย หรือ "แพทย์ครอบครัว"มากกว่า"แพทย์เฉพาะทาง"บางประเทศในยุโรปมีนโยบายสร้างแพทย์สาขานี้มากถึงร้อยละ 50 ขณะที่ประเทศไทยผลิตหมอด้านนี้แค่ปีละ 20 คน  และจากสถิติแพทย์ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 1.5 หมื่นคน มีเพียง 309 คนเท่านั้น ที่ได้ "วุฒิบัตรแพทย์ครอบครัว"ในจำนวน 309 คนนั้น มีครึ่งหนึ่งย้ายสาขาไปแล้ว เพราะ "ไม่เมกมันนี่" หรือไม่ทำเงินเท่าหมอเชี่ยวชาญโรคด้านอื่นๆ!!

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะหนึ่งในแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว อธิบายให้ฟังว่า แต่ก่อนหมอเมืองไทยทำหน้าที่เสมือนเป็น"แพทย์ครอบครัว"(Family Medicine)เพราะในหมู่บ้านชุมชนหรืออำเภอหนึ่งๆมีหมอไม่กี่คน เวลาใครในครอบครัวป่วยไม่ว่าเป็นโรคอะไรก็พามาหาหมอคนเดิม กลายเป็นแพทย์ประจำครอบครัวไปโดยปริยาย รักษาโรคพื้นฐานได้ทุกโรคทุกระบบ รู้จักผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างดี ต่อมาระบบผลิตแพทย์เปลี่ยนไปเลียนแบบอเมริกา เน้นผลิตหมอเฉพาะทางกลายเป็น หมอผ่าตัด หมอทำคลอดหมอกระดูก หมอตา หมอหูคอจมูกฯลฯเน้นรักษาคนไข้ที่"อวัยวะ"เป็นหลัก แทบไม่รู้จักตัวคนไข้หรือครอบครัวเลย

"ทุกวันนี้ คนป่วยทุกคนมุ่งไปหาแพทย์เฉพาะทาง วันจันทร์ปวดขาไปหาหมอกระดูก วันอังคารไปตามนัดเจาะเลือดเบาหวาน วันพุธพบหมอตาดูเรื่องตามัว วันพฤหัสพบหมอหัวใจ วันศุกร์เกิดภาวะเครียด จากการพบหลายหมอเลยต้องไปพบจิตแพทย์ ดูเหมือนเป็นเรื่องตลก หาหมอหลายคนแต่สุดท้ายไม่มีใครรู้จักตัวคนไข้เลยหมอทุกคนรู้จักแต่อวัยวะของคนไข้ แต่ยังมีหมอเฉพาะทางที่ดีบางคนเหลืออยู่ ยังมีหัวใจของการเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเขาตั้งใจดูแลทั้งตัวของคนไข้และครอบครัว"นพ.สุภัทรยอมรับว่า"หมอด้วยใจ" แบบอย่างหมอดีเป็นของหายากมากในสังคมไทย โดยเฉพาะในสังคมเมือง ทุกวันนี้ศึกษาแพทย์ไม่สนใจเรียนด้านนี้เลย เนื่องจากไม่มีการส่งเสริมอย่างเป็นระบบจากทั้งแพทยสภาและโรงเรียนแพทย์ ขณะที่ในยุโรป เช่น อังกฤษ หรือเนเธอร์แลนด์ จะเน้นผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวต่อแพทย์เฉพาะทางให้ได้สัดส่วน 50:50 ด้วยแนวคิดว่า ทุกคนต้องมีแพทย์ประจำตัว ใครเจ็บป่วยไปหาหมอประจำครอบครัวก่อน หากรักษาไม่ได้ค่อยแนะนำส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการติดตามดูแลร่วมกันระหว่างหมอทั้ง 2 คน เมื่อหายแล้วก็กลับมาอยู่ในความดูแลของหมอครอบครัวเดิม ทำให้เข้าใจผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างดี

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขจัดเวทีเสวนา เรื่อง แผนกำลังคน"แพทย์ครอบครัว"สู่ภาพพึงประสงค์ของระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ โดยเสนอให้เร่งผลิตแพทย์ด้านนี้ออกมาเพ่มอย่างเร่งด่วน เพราะแต่ละปีมีผู้สมัครเรียนประมาณ 20 คนเท่านั้น และทั่วประเทศมีสมาชิกแพทย์ชอรมเครือข่ายเวชศาสตร์ครอบครัวไม่เกิน 150 คน ที่ยังอยู่ในระบบและยังปฏิบัติการอยู่ มีการเสนอให้เพิ่มการผลิตแพทย์ครอบครัวให้ได้อย่างน้อย 6,000 คน โดยมีเป้าหมาย 1 คนดูแลประชาชน 1 หมื่นคน พร้อมให้ทุนสนับสนุนการเรียน และเพิ่มศูนย์ฝึกปฏิบัติการเรียนรู้เวชศาสตร์ครอบครอบเพิ่มจาก 18 แห่งทั่วประเทศ

นพ.กสิวัฒน์ ศรีประดิษฐ์ ผอ.โรงพยาบาลบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา วิเคราะห์ให้ฟังว่า ปัญหาใหญ่ที่คนไทยป่วยมากขึ้น มีสุขภาพแย่ลง เพราะขาดหมอช่วยดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิหรือเบื้องต้นถ้ามีหมอดูแลตั้งแต่ต้นสังเกตเห็นอาการป่วยเริ่มแรกไม่ต้องรอจนเป็นหนักหรือเจอโรคแทรกซ้อน เช่นกรณีตรวจะเร็งเต้านมหรือเจอโรคแทรกซ้อน เช่นกรณีตรวจมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งปากมดลูก หมอประจำครอบครัวได้รับความไว้วางใจมากกว่ามีโอกาสตรวจเจอผู้ป่วยในระยะแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่ต้องป่วยเป็นมะเร็งในระยะท้ายๆทำให้ค่าใช้จ่ายสูง หรือ กรณีผู้ป่วยเบาหวาน หมอจะมีข้อมูลระดับครัวเรือนเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของผู้ป่วย แนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีกว่า เมื่อหมอสามารถวิเคราะห์แยกแยะความเจ็บป่วยและเข้าใจผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เข้าใจปัยหาในครอบครัวด้วยการดูแลรักษาดูแลสุขภาพแบบผสมผสานได้ผลกว่าไปรักษาเฉพาะอวัยวะที่เจ็บป่วยอย่างเดียว

"ยกตัวอย่าง รพ.บ้านโพธิ์ ห่างจากอำเภอเมือง 12 กม. มีแพทย์ ห่างจากอำเภอเมือง 12 กม. มีแพทย์ครอบครัวประจำ 3 คน ดูแลประชากร 5 หมื่นคน ที่ผ่านมาได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาจากประชาชน หมอครอบครัวมีหน้าที่ไปบ้านผู้ป่วยเรื้อรัง เพื่อดูแลรักษาต่อเนื่องครบวงจร ถ้าจะสนับสนุนให้นักศึกษาหันมาเรียนด้านนี้เพิ่ม ก็ต้องหา "ไอดอล"หรือตัวอย่างหมอที่ประสบความสำเร็จในสาขานี้ แสดงให้พวกเขาเห็นคุณค่าการเป็นหมอเหมือนในยุโรปที่ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป(General Practitioner หรือ GP)จะทำหน้าที่ในบทบาทของแพทย์ครอบครัว แพทย์แต่ละคน มีศักดิ์ศรีและรายได้ไม่แตกต่างจากแพทย์เฉพาะทาง"

นพ.กสิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ผลิตหรือโรงเรียนแพทย์ควรสนับสนุนอัตราอาจารย์ที่เหมาะสมสำหรับสอนในสาขานี้ด้วย เมื่อการเรียนการสอนมีคุณภาพ  ระบบแพทย์ปฐมภูมิจะเข้มแข็งลดอัตราเจ็บป่วยคนไข้ ในระยะท้ายและภาวะโรคแทรกซ้อนเรื้อรังส่งผลให้ประชาชนสุขภาพดีและอายุยืนยาว ลดต้นทุนค่ารักษาโรค สามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติต่อไป

ทุกวันนี้"หมอด้วยใจ"ยังคงเป็นนโยบายในฝัน ชาวบ้านคงต้องอยู่ในสภาพ"คนไข้เดียวดาย"ต่อไปอีกนาน จนกว่าผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการผลิตแพทย์จะหันมาช่วยกันเปลี่ยนทัศนคติของนักศึกษาแพทย์ให้เห็นคุณค่าของการ"รักษาคนป่วย"มากกว่า"รักษาโรค"!!

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555