ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันที่ 1 ธ.ค.ของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก จุดมุ่งหมายเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ตระหนักถึงการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ตลอดจนพยายามหามาตรการป้องกันและหยุดยั้งโรคเอดส์ให้เป็นผลสำเร็จ

ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการทดสอบวัคซีนทางคลินิก คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า โรคเอดส์เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี จะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ของร่างกาย จนเป็นโรคเอดส์ เชื้อเอชไอวีสามารถเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

ผู้ป่วยเอดส์รายแรกในประเทศไทยเป็นชายอายุ 28 ปี มีพฤติกรรรมรักร่วมเพศ เดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา เริ่มมีอาการในปี พ.ศ. 2526 ได้รับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอเมริกา แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคเอดส์ จึงกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2527 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ถึง 25 ล้านคนทั่วโลก  จากข้อมูลเมื่อปลายปี 2554 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ  532,461 ราย

ผลงานการวิจัยทางด้านการรักษาและการป้องกันโรคเอดส์ช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2530 เริ่มมีการใช้ยาต้านไวรัสตัวแรก คือ เอแซดที  ซึ่งมีความหวังริบหรี่ เชื้อไวรัสลดลงเล็กน้อย มีการดื้อยา ต่อมาเริ่มใช้สูตรยา 2 ตัว เชื้อไวรัสลดลงมากกว่าเดิมเล็กน้อย ปี พ.ศ. 2539 เริ่มใช้สูตรยา 3 ตัว สามารถลดจำนวนเชื้อไวรัสได้จนถึงระดับที่ตรวจไม่พบปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่ได้รับอนุมัติมากถึง 30 ชนิด แต่เนื่องจากยังคงมีผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาเหล่านี้ และเรายังต้องการยาที่ออกฤทธิ์ได้นาน หากผู้ป่วยอายุ 25 ปี เข้าถึงยาและรับประทานยาสม่ำเสมอจะมีชีวิตอยู่ต่อได้ถึง 50 ปี

2-3 ปีที่ผ่านมา การป้องกันโรคเอดส์โดยการใช้ยาต้านไวรัสได้ผลดี เนื่องจากมียาต้านไวรัสแบบสูตรรวมใน 1 เม็ด รับประทานง่าย สะดวกกว่าแบบเดิม  และราคาถูกลง  กว่า 90% ของผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์เกิน 6 เดือน ทำให้ปริมาณไวรัสในกระแสเลือดลดลง ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ไม่สามารถแพร่เชื้อให้กับคู่นอน ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง และเกิดแนวคิดที่ว่าการรักษาเป็นการป้องกันที่ดี

จากคุณประโยชน์และประสิทธิภาพที่ดีของกลุ่มยาต้านไวรัส ประเทศไทยจึงกำหนดเป้าหมายการเกิดอุบัติการณ์โรคเอดส์อยู่ที่ศูนย์ภายในปี 2559 ตามคำประกาศขององค์การอนามัยโลก และองค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติ ศูนย์ตัวที่ 1 ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ศูนย์ตัวที่ 2  ไม่มีการตายเนื่องจากเอดส์ และศูนย์ตัวที่ 3  ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นการใช้สารเคมี หรือยาต้านไวรัสใช้ใส่ในช่องคลอด  ทวารหนักเพื่อลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ โดยทำออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ครีม โฟม เจล ห่วงอนามัย ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก

มาตรการอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญในการลดและควบคุมการระบาดของโรคเอดส์ คือ การใช้วัคซีนป้องกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้ให้ความสำคัญและมีการศึกษาวิจัยมากว่า 20 ปี

ประเทศไทยได้มีการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคเอดส์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยเริ่มทำการทดสอบระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ในผู้ติดยาเสพติดที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี โดยใช้วัคซีนอาร์จีพี 120 จากสายพันธุ์บีและอีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537-2541  ผลสำเร็จของงานวิจัยครั้งนั้นได้นำไปสู่การพัฒนาศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนระยะที่ 3 ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบภูมิคุ้มกันแบบพึ่งพาเซลล์

วัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีน่าจะเป็นวัคซีนที่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด และภูมิคุ้มกันแบบพึ่งพาเซลล์ นำไปสู่ผลการทดสอบระยะที่ 1 โดยใช้วัคซีนปูพื้นที่เรียกว่า "อัลแว็กซ์-เอชไอวี" (วีซีพี 1521) แล้วฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน จีพี 120 หรือ จีพี 160 ในกลุ่มผู้ใหญ่ชาวไทยหรือเรียกว่าการฉีดวัคซีนแบบ "ปูพื้น-กระตุ้น" ซึ่งใช้วัคซีน 2 ชนิด จากผลการทดสอบระยะที่ 1 และ 2 ในปี พ.ศ. 2542-2545 พบว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันทั้งในเลือดและในเซลล์ในระดับที่ยอมรับได้

จากผลดังกล่าวนำไปสู่การวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 ในปี พ.ศ. 2546 คือ โครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3  หรือที่เรียกว่า อาร์วี 144 ในกลุ่มผู้ใหญ่ไทย ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีกว่า 1.6 หมื่นคน ใน จ.ชลบุรี และระยอง และแจ้งผลวิเคราะห์สุดท้ายสู่สาธารณชนเมื่อปลายปี 2552  สรุปว่า วัคซีนมีประสิทธิผลสามารถลดการติดเชื้อได้ 31.2% นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวัคซีน เพราะเป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่าวัคซีนเอดส์มีประสิทธิภาพในการป้องกัน

นอกจากนี้ยังค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างภูมิคุ้มกันกับแอนติบอดีที่มีต่อตำแหน่งวี 1 และ วี 2 หรือ ส่วนแปรเปลี่ยนของส่วนเปลือกของเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยพบว่า ระดับแอนติบอดีต่อตำแหน่งวี 1 และวี 2 สูงในผู้ที่ไม่ติดเชื้อ และระดับแอนติบอดีนี้ลดลงหลัง 1 ปี อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลในเชิงป้องกันได้ จึงนำไปสู่โครงการศึกษาต่อเนื่อง 2 โครงการ เรียกว่า อาร์วี 305 และอาร์วี 306

โครงการอาร์วี 305 เป็นการทดสอบระยะที่ 2 โดยการให้วัคซีน 2 ครั้งห่างกัน 6 เดือน กระตุ้นอาสาสมัครกลุ่มเดิมจากโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3 ที่ได้รับวัคซีนครบและไม่ติดเชื้อ 165 คน ส่วนโครงการอาร์วี 306 เป็นการทดลองในระยะที่ 2 เพื่อประเมินความแตกต่างของการฉีดวัคซีนกระตุ้นที่ 1 ปีในกลุ่มตัวอย่าง 460 คน  หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนปูพื้นและกระตุ้นซ้ำเหมือนที่ให้ในโครงการอาร์วี 144 ซึ่งเป็นการศึกษาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันดั้งเดิมและภูมิคุ้มกันจำเพาะในสารคัดหลั่งหลายชนิด ได้แก่ เยื่อบุปากมดลูก น้ำอสุจิ สถานที่ศึกษาทางคลินิกมี 3 แห่ง คือ ศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ศูนย์วิจัยทางคลินิก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารฝ่ายไทย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ขณะนี้โครงการได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการวิจัยในคนแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ตามกำหนดวันที่ 28 ม.ค. 2556

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 ธันวาคม 2555