ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แรงงานต่างด้าวในไทยเข้าไม่ถึงยาต้านไวรัสเอดส์ เหตุนายจ้างไม่นำเข้าระบบประกันสังคม เข้าโครงการรักษาเอชไอวีไม่ได้

ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์หลากหลายนั้น มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย ไม่สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ อย่างเช่นชะตาชีวิตของ นายหยี่ตัน แรงงานต่างด้าวชาวพม่าวัย 42 ปี ป่วยเป็นโรคเอดส์ ด้วยการติดเชื้อจากสามีชาวพม่าด้วยกัน หลังจากหลบหนีเข้าเมืองมาทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันเธอต้องใช้เงินอย่างน้อยเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,430 บาท เพื่อจ่ายให้แก่โรงพยาบาลเป็นค่ายา หลังจากป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนก่อนหน้านี้หลายโรคเพราะไม่ได้รับยา ดังนั้น ยาต้านไวรัสเอดส์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้วัดว่าเธอจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้หรือไม่

นางหยี่ต้น เล่าว่า ภายหลังแต่งงานได้ไปอยู่ที่ จ.ระนอง จนตรวจพบเชื้อเอดส์เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ส่วนสามีตายเพราะเชื้อเอดส์ไปก่อนหน้านี้ 7 ปีแล้ว และเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ร่างกายผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด เป็นวัณโรค และปวดท้อง ท้องเสียเนื่องจากร่างกายรับไม่ไหว จนต้องกินยาต้านไวรัสปรับให้ร่างกายควบคุมภูมิคุ้มกันโรคได้ ถ้าหากไม่ได้รับยาตั้งแต่ตอนนั้นป่านนี้คงจะตายไปแล้วและถือว่าโชคดีที่เธอยังมีลูก 2 คน อายุ 17 ปี และ 19 ปี ทำงานที่โรงงานในมหาชัย ช่วยดูแลค่ายา จึงทำให้มีชีวิตอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินยาตรงเวลาและไม่ขาดยา ซึ่งหมอบอกว่าหากทำได้จะอยู่ได้อีกนาน

นางหยี่ตัน กล่าวว่า ไม่มีทั้งบัตรประกันสุขภาพ หรือประกันสังคม เพราะไม่ได้ทำงานแม้ว่าจะผ่านการพิสูจน์สัญชาติมาแล้วก็ตาม ได้รับเพียงการช่วยเหลือจากมูลนิธิรักษ์ไทย ในการประสานช่วยเหลือจากมูลมิธิรักษ์ไทย ในการประสานช่วยเหลือไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

"คนที่ติดเชื้อเหมือนกัน มีปัญหาหนักกว่าเรามาก โดยเฉพาะเรื่องเงินไม่พอสำหรับซื้อยาอยากให้หน่วยงานรัฐบาลช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย เพียงแค่ให้เข้าสู่ระบบบัตรประกันสุขภาพและเข้ารับการรักษาเพียง 30 บาท เช่นเดิม ก็ยังพอให้สามารถมีชีวิตอยู่ไปได้ ป้จจุบันเมื่อมีการพิสูจน์สัญชาติและยกเลิกบัตรประกันสุขภาพและให้ไปใช้ประกันสังคมแทน ปรากฏว่าบางที่ไม่ยอมทำประกันสังคมให ทำให้ไม่เหลือสิทธิ์อะไร เวลาป่วยก็ต้องหาเงินไปหาหมอเอง" นางหยี่ตัน กล่าว

ด้าน น.ส.ปาณิตา ทวีเหลือ อายุ 34 ปี เจ้าหน้าที่ภาคสนาม โครงการยาต้านฯ สำหรับแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า แรงงานในสมุทรสาครที่ติดเชื้อมีมากกว่าจำนวนกองทุนยาต้านฯ ที่มูลนิธิได้รับบริจาคมาทั่วประเทศเพียง 2,000 คน ซึ่งสมุทรสาครได้เพียง 100 กว่าคน แต่คนติดเชื้อมีมากกว่า 200 คน ทำให้มีคนที่ต้องซื้อยากินเอง หรือใช้สิทธิ์ประกันสังคม

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ นายจ้างที่แรงงานผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ไม่ยอมนำแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพราะต้องถูกหักสมทบ 5% จึงไม่อยากจ่ายตรงนี้ ในขณะที่นโยบายภาครัฐพยายามจะให้แรงงานเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ต้องมีบัตรประกันสังคม แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้นและไม่มีใครไปดำเนินการใดๆ เลย แม้นายจ้างไม่ดำเนินการ ซึ่งในอนาคตไม่รู้ว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขหรือไม่

น.ส.ปาณิตา ระบุว่า ตัวเลขต่างด้าวประมาณ 3 แสนคน มีจำนวนมากถึง 70-80% ที่ไม่มีสิทธิด้านสุขภาพอะไรเลย บางคนต้องไปกู้ยืมเงินมาซื้อยารักษา เมื่อหมดหนทางก็ใช้วิธีย้ายหนีและโรงพยาบาลก็จะใช้ระบบค้างชำระไว้ มีเงินเมื่อไหร่ก็ค่อยไปจ่าย สุดท้ายมีไปจ่ายไม่กี่ราย ที่เหลือก็กลายเป็นหนี้สูญ ทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องไปด้วย แต่ละปีมียอดเหล่านี้เป็นเงิน 1-2 ล้านบาท ทั้งนี้จังหวัดและสาธารณสุขจังหวัด ต้องการให้นำการซื้อประกันสุขภาพกลับมาใช้เหมือนเดิม แต่เมื่อปรับมาสู่การพิสูจน์สัญชาตินำไปเข้าประกันสังคม แต่ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงไม่นำแรงงานไปเข้าประกันสังคม ทำให้เกิดปัญหาในการดูแลด้านสุขภาพของแรงงานต่างด้าวตามมาอีกมาก

นางศิริกร เลิศชโยธิต ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย จ.สมุทรสาคร เปิดเผยว่า กฎหมายระบุให้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนจะต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมด เพราะหลายฝ่ายไม่ให้ความร่วมมือ และไม่เห็นมีการติดตามดำเนินการใดๆ จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เมื่อลูกจ้างย้ายโรงงานก็จะหายไปจากระบบเลย

นอกจากนี้ คนงานนี้นายจ้างรู้ว่าติดเชื้อส่วนใหญ่จะถูกเลิกจ้าง เมื่อป่วยจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เมื่อไม่มีนายจ้างก็ไม่สามารถต่อบัตรต่างด้าวได้ กลายเป็นคนไม่มีบัตรอย่างถาวรต้องขวนขวายหาซื้อยากินเอง สุดท้ายก็เสียชีวิตเพราะเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุขของไทยและปัญหาการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ขณะนี้คือ ภาครัฐไม่อยากให้ยาต้านแก่แรงงานที่เป็นเอดส์ หากไม่สามารถติดตามหรือประเมินได้ ยาที่ให้ไปจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ

สำหรับเลขแรงงานที่ติดเชื้อเอดส์ในพื้นที่สมุทรสาครในปี 2554 จากตัวเลขหน่วยงานรัฐมีอยู่ 223 คน ส่วนคนไทยมี 3,853 คน รวม 4,000 กว่าราย เสียชีวิต 910 ราย ส่วนตัวเลขแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ปี 2554 อยู่ที่ 261,040 รายมีบัตรต่างด้าว 225,040 ราย ไม่มีบัตรใดๆ 36,000 ราย และผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 86,404 ราย โดยแรงงานส่วนใหญ่ 138,636 รายมีเพียงบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งไม่ครอบคลุมโรคเอดส์ ส่วนอีก 22,000 ราย มีบัตรประกันสังคม

ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า รัฐบาลควรให้งบประมาณเพื่อดำเนินการ มิฉะนั้นการป้องกันเอดส์จะมีปัญหาแน่นอน ซึ่งแรงงานต่างด้าวมีเพียง 30-40% เท่านั้นที่มีบัตรประกันสังคม ต้องจ่ายหัวละ 1,900 บาท ที่เหลืออีก ประมาณ 70% จะเป็นบัตรประกันสุขภาพเท่านั้นจ่ายหัวละ 600 บาท ไม่ครอบคลุมการรักษาโรคเอดส์ ส่วนแรงงานประเภทลูกเรือประมงทะเลมักจะไม่มีทั้งสองบัตร

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 1 ธันวาคม 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง