ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ ถูกกำหนดให้เป็นวันเอดส์โลก เป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันฉลองความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคนี้ และชี้ให้เห็นถึงปัญหาท้าทายต่างๆ ที่รออยู่ข้างหน้าหากโลกนี้จะขจัดโรคที่คุกคามชีวิตนี้ให้หมดไป

หลายปีที่ผ่านมานานาชาติต่างชื่นชมประเทศไทยอยู่บ่อยครั้งว่า ไทยเป็นประเทศที่มีนโยบายที่ก้าวหน้าในการแก้ไขภาวะแพร่ระบาดของเอชไอวีและเอดส์และการส่งเสริมการเข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างถ้วนหน้า ในเวทีสาธารณสุขระดับสากล ไทยเป็นประเทศที่สากลยกย่องว่ามีนโยบายด้านสาธารณสุขที่ก้าวหน้าและมีจุดยืนที่ชัดเจนในการคัดค้านข้อตกลงการค้าต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมและส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา

นอกจากนี้ ประชาคมโลกที่มีทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีจากทั่วโลกและองค์กรสากลที่ทำงานต่อสู้กับเอชไอวีและเอดส์ ได้สรรเสริญประเทศไทยที่กล้าหาญและนำมาตรการยืดหยุ่นทริปส์มาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในประเทศ ด้วยการที่คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญโดยไม่หวั่นเกรงต่อคำขู่มาตรการตอบโต้ทางการค้าไทยได้นำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรมาใช้และกลายเป็นตัวอย่างให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆเช่น บราซิล อินเดีย และอินโดนีเซียซึ่งได้นำมาตรการปกป้องการสาธาณสุขของข้อตกลงทริปส์มาใช้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปัจจุบันของไทยเกี่ยวกับการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปกำลังน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลไทยในปัจจุบันมีท่าทีที่จะเปลี่ยนจุดยืนเสียแล้ว จากที่เคยไม่ยอมรับข้อผูกพันแบบทริปส์ผนวกไม่ว่าในรูปแบบใดการยอมรับข้อผูกพันแบบทริปส์ผนวกจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาอย่างรุนแรง

การที่รีบร้อนและคิดแต่เพียงจะคว้าโอกาสที่จะเข้าถึงตลาดไก่และอาหารทะเลในยุโรปให้ได้ รัฐบาลไทยได้ประเมินค่าของผลกระทบด้านสาธารณสุขที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลต่ำเกินไปซึ่งจะกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลไทยในการเจรจา ยกตัวอย่าง ข้อผูกพันแบบทริปส์ผนวกข้อหนึ่งในหลายๆ ข้อของข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ได้พูดคุยวิจารณ์กันคือ การกำหนดให้มี"การผูกขาดข้อมูลทางยา" (Data Exclusivity)ในกฎหมายไทย การมีข้อผูกมัดแบบนี้จะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากการผูกขาดโดยสิทธิบัตร ซึ่งจะมีผลทำให้ยามีราคาสูงขึ้นและมียาชื่อสามัญเข้ามาในตลาดได้ช้าลง

ในข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐและจอร์แดนที่ได้ทำไปแล้ว จอร์แดนต้องมีและนำการผูกขาดข้อมูลทางยามาบังคับใช้ในประเทศ งานวิจัยที่จัดทำโดยองค์การอ็อกแฟมเมื่อปีค.ศ. 2007 แสดงให้เห็นว่า ยา 103 ชนิดที่ขึ้นทะเบียนยาและวางตลาดในปี ค.ศ. 2001 ล้วนแล้วแต่ไม่มีสิทธิบัตร และร้อยละ 79 ของยาในจอร์แดนเป็นอย่างน้อย ไม่มีคู่แข่งที่เป็นยาชื่อสามัญทั้งนี้สภาพเช่นนี้เป็นผลมาจากการผูกขาดข้อมูลทางยา งานวิจัยยังนำเสนออีกว่าราคายาในจอร์แดนแพงกว่าราคายาในอียิปต์ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านถึงร้อยละ800 (8 เท่า)

งานวิจัยของศูนย์วิเคราะห์นโยบายด้านการค้าและสุขภาพ (Center for Policy Analysis on Trade and Health, CPATH)เมื่อปีค.ศ. 2010 ชี้ว่า ทันทีที่ประเทศกัวเตมาลานำการผูกขาดข้อมูลทางยามาใช้ราคายาในประเทศสูงขึ้นถึง 846 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะมีชนิดยาจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่มาจดสิทธิบัตรและได้รับการคุ้มครอง

ถ้าประเทศไทยยอมรับข้อเรียกร้องเช่นนี้กับนักเจรจาการค้าของสหภาพยุโรปเมื่อใดเมื่อนั้นรัฐบาลไทยกำลังนำระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศเข้าไปเสี่ยงและทำให้ระบบล้มครืนทั้งระบบ เพราะภาระค่าใช้จ่ายด้านยาจะถีบตัวสูงขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งๆ ที่รัฐบาลชุดนี้มีเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายสำคัญ และนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งมาครั้งแล้วครั้งเหล่า

คณะเจรจาของรัฐบาลไทยเคยโต้แย้งว่า ถ้าคณะเจรจามีจุดยืนไม่ยอมรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดไปกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกแล้ว สหภาพยุโรปจะไม่ยอมเจรจาด้วย

คำกล่าวอ้างเช่นนี้ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย ในการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและอินเดีย ประเทศอินเดียมีจุดยืนที่แน่วแน่ที่ไม่ยอมรับข้อผูกพันแบบทริปส์ผนวกและได้ยืนกรานจุดยืนเช่นนี้มาตลอด ในที่สุดสหภาพยุโรปประกาศว่าจะถอนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาออกจากโต๊ะเจรจา

ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสร้างกรอบการเจรจาที่ชัดเจนและมุ่งมั่นว่าจะไม่มีข้อเรียกร้องแบบทริปส์ผนวกในการเจรจา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้การเจรจาที่จะเกิดขึ้นกับสหภาพยุโรปส่งผลกระทบร้ายแรงต่อราคายาและการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ตามมา

ที่มาข้อมูล :

(1) OXFAM, All Costs,No Benefits : How TRIPS-plus intellectual property rules in the U.S.Jordan FTA affect access to medicines, 2007;

(2) Shaffer, E., Brenner,J., A Trade Agreement's Impact On Access To Generic Drugs, Health Aff September/October 2009 vol. 28 no. 5 w957-w968

ผู้เขียน : นายพอล คอว์ธอร์น องค์กรหมอไร้พรมแดน ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเข้าถึง-ภูมิภาคเอเซีย

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 ธันวาคม 2555