ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แม้ปัญหาการบรรจุพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 17,000 คน ให้เป็นข้าราชการ จะได้ข้อสรุปจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย โดยมีแผนการบรรจุเป็นข้าราชการในช่วง 3 ปีนับจากนี้ ตามการหารือร่วมของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อานิสงส์นี้ไม่ใช่ได้ประโยชน์เพียงพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพอื่นๆ อีก 20 สายงาน อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด ฯลฯ รวมทั้งหมด 30,188 คน

แต่ปัญหานี้ใช่ว่าจะจบสิ้น! เพราะ "ลูกจ้างชั่วคราว" ในสังกัด สธ.ไม่ใช่แค่กลุ่มวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มทั่วไป หรือสายสนับสนุนอีกกว่า 1 แสนคน

จึงเกิดคำถามตามมาว่า... แล้วกลุ่มนี้จะมีการดูแลอย่างไร?

แน่นอนว่า นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหมายเลข 1 ของกระทรวงสาธารณสุข ต้องประกาศชัดเจนว่า "ไม่ทอดทิ้ง" เพราะ สธ.มีแผนแก้ปัญหาอัตรากำลังบุคลากรสาธารณสุขทั้งระบบ รวมลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดกว่า 130,000 คน

ฃในส่วนสายวิชาชีพที่ยังไม่ได้บรรจุ และกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุน จะถูกปรับสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) หมายความว่า ทั้งหมดจะถูกยกระดับโดยการเพิ่มสิทธิสวัสดิการไม่แพ้สิทธิข้าราชการ

ทว่า... แนวทางแก้ไขดังกล่าวกลับไม่เข้าตาภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวฯ ได้ออกมาโจมตีผู้บริหาร สธ.อย่างหนักถึงความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะประเด็นการเพิ่มอัตราค่าตอบแทน เช่น กรณีกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวทั่วไปที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีเงินค่าเสี่ยงภัยแม้แต่น้อย

ความไม่เท่าเทียมกันนี้เอง เป็นเหตุแห่งการขู่หยุดงานประท้วงในวันที่ 1-3 มกราคม 2556

แม้ว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะยืนยันว่าลูกจ้างชั่วคราวทุกคน ไม่ว่าจะมาจากสายสนับสนุน หรือสายวิชาชีพจะได้รับการดูแล โดยจะมีสิทธิสวัสดิการจากการเป็นพนักงาน ก.สธ. ที่แทบไม่แตกต่างกัน ยกเว้นในเรื่องเงินเดือนนั้น อาจไม่ได้เท่ากันทั้งหมด เนื่องจากลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนจะต้องปรับตามบัญชีกฎระเบียบของกระทรวงการคลัง นอกนั้นแทบไม่แตกต่างกันเลย

การที่ภาคีลูกจ้างชั่วคราวฯ ประกาศหยุดงานนั้น อาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากที่ผ่านมา การแก้ปัญหาอัตรากำลัง รวมทั้งสิทธิสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวนั้น สธ.ได้หารือร่วมกับสมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราว และสมาคมลูกจ้างชั่วคราว ในการร่างระเบียบพนักงาน ก.สธ. มาตลอด ซึ่งเรื่องนี้ทั้งสมาพันธ์ลูกจ้างฯ และสมาคมลูกจ้างฯ จะเข้าชี้แจงกับกลุ่มลูกจ้างทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการต่างๆ

สำหรับสิทธิสวัสดิการของร่างระเบียบพนักงาน ก.สธ.นั้น โดยหลักจะบริหารโดยคณะกรรมการพนักงาน ก.สธ. ซึ่งจะมีตัวแทนจากทุกสหวิชาชีพ รวมทั้งกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวทั่วไปเข้าร่วม เพื่อร่วมกำหนดอัตรากำลังเพิ่มเติมในแต่ละปี โดยในเรื่องค่าตอบแทนนั้น เดิมทีข้าราชการจะได้อัตราเงินเดือนตามบัญชีที่ ก.พ.กำหนด แต่สำหรับพนักงาน ก.สธ. เฉพาะสายวิชาชีพจะมีอัตราเงินเดือนสูงถึง 1.2 เท่าของข้าราชการ ส่วนสายทั่วไปนั้น จะเลื่อนค่าจ้างปีละ 1 ครั้ง โดยเพิ่มวงเงินร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งเท่ากับข้าราชการ

ในเรื่องเงินประจำตำแหน่งนั้น ในส่วนพนักงาน ก.สธ.ไม่มี แต่สามารถรับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุข (พตส.) ได้ ส่วนสิทธิลาประเภทต่างๆ รวมทั้งลาศึกษา ลาฝึกอบรม เหมือนข้าราชการ โดยเฉพาะได้สิทธิการศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน และปฏิบัติการวิจัย ส่วนเรื่องสัญญาการจ้างงานนั้น เดิมลูกจ้างชั่วคราวจะจ้าง ปีต่อปี แต่พนักงาน ก.สธ.จะเปลี่ยนเป็นระบบ สัญญาจ้างไม่เกิน 4 ปี สามารถต่อสัญญาได้ และเลิกจ้างได้เมื่ออายุครบ 60 ปี ยกเว้น บางตำแหน่งงานที่มีลักษณะงานต้องอาศัย ผู้เชี่ยวชาญ หรือความชำนาญงานพิเศษด้านใดด้านหนึ่ง สามารถจ้างผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีได้ ทั้งนี้ ไม่มีบำเหน็จบำนาญ แต่จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงาน ก.สธ.

ส่วนสิทธิรักษาพยาบาลนั้น พนักงาน ก.สธ.จะได้รับสิทธิจากประกันสังคม เช่น ค่ารักษาพยาบาล การสงเคราะห์บุตร การว่างงาน เงินชราภาพ เป็นต้น ซึ่งในเรื่องการจ่ายเงินสมทบอยู่ระหว่างหารือจำนวนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับฐานเงินเดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับสิทธิรักษาพยาบาลของพ่อแม่ หรือทายาทสายตรง จะใช้สิทธิ 30 บาทพลัส (plus) คือ จะได้เพิ่มจากสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค เช่น ห้องพิเศษ รับการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น นอกจากนี้ พนักงาน ก.สธ.จะมีสิทธิในการรับบริการสินเชื่อธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และยังมีสิทธิบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย

ถามว่า...หากงบประมาณทั้งหมดจะมาจากเงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาล จะเพียงพอ หรือไม่? เรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า การใช้เงินบำรุงไม่ต้องกังวลว่าจะประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากชัดเจนว่า เมื่อเริ่ม ขั้นตอนบรรจุพนักงานลูกจ้างชั่วคราวของ สธ. จำนวน 17,000 คน เป็นข้าราชการตามแผน 3 ปี จะทำให้การใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลเพื่อจ่ายให้กับลูกจ้างลดลงเกือบร้อยละ 50 กล่าวคือ ในจำนวนลูกจ้างดังกล่าวจะเหลือเพียง 7,500 คน ที่ได้รับเงินเดือน 1.2 เท่าของข้าราชการ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเดิมมาก สามารถใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลได้สบายๆ

แม้จะมีการยืนยันดังกล่าว แต่ทางด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) รวมถึง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ต่างอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะระยะยาวย่อมไม่มั่นใจว่า เงินบำรุงจะเพียงพอ และการจำกัดบุคลากร จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทุกๆ ปี ย่อมมีบุคลากรสายวิชาชีพจบใหม่หลั่งไหลเข้าระบบอีกจำนวนหนึ่ง และถึงแม้จะมีการตั้งคณะทำงานในการลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบระบบบัญชีของโรงพยาบาลต่างๆ โดยมุ่งไปที่โรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดารที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาในอนาคต

แต่อย่าลืมว่า ณ ปัจจุบัน โรงพยาบาลที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องมีมากถึง 144 แห่ง จาก 800 กว่าแห่งทั่วประเทศ จะมีการแก้ปัญหาอย่างไร งบประมาณจึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจ ไม่เช่นนั้น คงต้องเห็นการออกมาเรียกร้องไม่จบสิ้น

สุดท้าย...คนที่ได้รับผลกระทบก็หนีไม่พ้น "ประชาชน" ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเลย...

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 8 ธันวาคม 2555