ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรมอนามัยจับมือกรมควบคุมมลพิษ ทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ฉบับที่ 2 ดำเนินงานอนามัยและสิ่งแวดล้อม 7 ด้าน หวังลดความเจ็บป่วยจากปัญหามลพิษ การขยายตัวของประชากรเมือง และภัยธรรมชาติ

วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมดอนเมือง 1 โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตามแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 ร่วมกับนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ว่าสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก และปัจจัยภายในประเทศหลายประการ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของประชากรและสภาพความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนที่ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนเกินศักยภาพและความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ ซึ่งเห็นได้จากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ทั้งปัญหาด้านมลพิษอากาศ น้ำเสีย ขยะมูลฝอย และของเสียอันตราย โดยเฉพาะพื้นที่เขตเมืองที่มีการขยายตัวโดยขาดการวางแผนรองรับและการจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน เกิดชุมชนแออัด ผู้อยู่อาศัยและผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองต้องอยู่อาศัยในที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีปัญหาด้านสุขอนามัยและขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด

นพ.เจษฎากล่าวว่า ระหว่างปี 2543-2553 ในพื้นที่เขตเมืองของประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2554 มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมือง 25,959,137 คน คิดเป็นร้อยละ 40.5 โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองประมาณร้อยละ 36 เมื่อประชากรเมืองมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นก็เท่ากับว่าประชากรไทยจะอยู่กันอย่างแออัดมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และมีแนวโน้มการเกิดภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ รุนแรงและถี่มากขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก โดยสภาพการณ์เหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและส่งผลให้มีปัญหาด้านสุขภาพกาย จิตและสังคมตามมา

“แผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 จึงเป็นการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและประชาคมโลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน มีเป้าหมายหลักคือ การลดความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อม 7 ด้าน ได้แก่ 1. คุณภาพอากาศ 2. น้ำ การสุขาภิบาล และสุขอนามัย 3. ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย 4. สารเคมีเป็นพิษและสารอันตราย 5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6. การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย และ 7. การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

นายวิเชียร กล่าวว่า ยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมฯ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2555 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยกรมอนามัยและกรมควบคุมมลพิษได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยให้หน่วยงานในสังกัดของกรมอนามัยและกรมควบคุมมลพิษ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว

“ทั้งนี้ การร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างกรมอนามัยและกรมควบคุมมลพิษ ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อการปฏิบัติงาน การพัฒนามาตรการด้านกฎหมายและกฎระเบียบ การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้สำคัญที่สนับสนุนการทำงาน การสื่อสารต่อสาธารณะให้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ จะสามารถทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว