ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปฏิรูประบบบริการ ปี'56 กระจาย ผู้ป่วย'ไส้ติ่ง-ผ่าคลอด'ไปใช้ รพ.ชุมชนขนาด 100 เตียง 30 แห่งทั่วประเทศ หวังลดความแออัดใน รพ.ขนาดใหญ่ แพทยสภา หมอส่วนใหญ่กลัวถูกฟ้องร้อง

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการบริการของสถานพยาบาลในสังกัด สธ.ทุกระดับแยกส่วนกันชัดเจน เช่น โรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีคนไข้มาก ทำให้เกิดการกระจุกตัว โดยเฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ทั้งๆ ที่ควรกระจายอย่างเหมาะสม ดังนั้น สธ.จึงมีแผนปรับรูปแบบการบริการสาธารณสุขในปี 2556 ตามนโยบายจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยแบ่งเป็น 12 เครือข่ายบริการ แต่ละพื้นที่จะพัฒนาการบริการออกเป็นสาขา เบื้องต้นเน้นการบริการ 5 สาขา ได้แก่ สูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวช และออร์โธปิดิกส์

"การปรับรูปแบบบริการนี้จะเริ่มในปี 2556 โดยกระจายการให้บริการผ่าตัดไส้ติ่ง และผ่าตัดครรภ์ ออกจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้ป่วยไปใช้บริการยังโรงพยาบาลใน เครือข่ายที่มีอยู่ใน 12 เขตพื้นที่บริการ ตั้งเป้าดำเนินการให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน 2 ปี

"จากนี้ไปการผ่าตัดเหล่านี้  จะให้โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่มีแพทย์ประจำอยู่ราว 10 คนขึ้นไป  และมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบถ้วนดูแล ซึ่งปัจจุบันมี รพช.ประมาณ 30 แห่ง ที่มีศักยภาพในการให้บริการ อีกทั้งบางแห่งมีแพทย์มาก 30-40 คน อาทิ รพช.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร รพช.บางละมุง จ.ชลบุรี รพช.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ฯลฯ" นพ.ณรงค์กล่าว และว่า แผนนี้จะมีความชัดเจนภายในเดือนธันวาคม จากนั้นในเดือนมกราคม 2556 จะมีการพิจารณาอัตรากำลังและงบประมาณ

นพ.ณรงค์กล่าวถึงข้อกังวลที่แพทย์บางคนไม่กล้าผ่าตัดเพราะกลัวถูกผู้ป่วยหรือญาติ ผู้ป่วยฟ้องร้องว่า เรื่องนี้ได้หารือกับแพทยสภาให้ทำความเข้าใจแล้วว่าเป็นภาระหน้าที่ของแพทย์ทุกคน ทุกระดับ

ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา กรรมการแพทยสภา  กล่าวว่า  สธ.ต้องการให้แพทยสภา สร้างความเข้าใจกับแพทย์ เนื่องจากที่ผ่านมา แพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็กจะไม่ผ่าตัด ให้ผู้ป่วยไม่ว่ากรณีใดๆ เพราะเกรงว่าจะเหมือน กรณีคำพิพากษาจำคุกแพทย์ รพ.ร่อน พิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ฐานผ่าตัดไส้ติ่ง ผู้ป่วยจนเสียชีวิต จนทำให้แพทย์คนอื่นๆ กลัวไปหมด ซึ่งเรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจ และว่า หากจะให้แนวทางดังกล่าวได้รับ การตอบรับที่ดีจากทั้งแพทย์และผู้ป่วย สธ. ควรมีการปรับปรุงระบบส่งต่อให้พร้อม เนื่อง จากโรงพยาบาลขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังไม่มี ศักยภาพ มีเพียง รพช. ขนาด 100 เตียง ขึ้นไปเท่านั้นที่ทำได้ และต้องไม่ใช่ให้ผู้ป่วย เข้าไปใช้บริการโดยตรงแต่ต้องเป็นการส่งต่อเท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 ธันวาคม 2555