ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ในการประชุมวิชาการนานาชาติเวชศาสตร์เขตร้อน ประจำปี 2555 (JITMM 2012) ระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคมนี้ ซึ่งมีกว่า 30 ประเทศเข้าร่วม      พญ.อรุณี ทรัพย์เจริญ ที่ปรึกษาคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมพร้อมป้องกันโรคต่างๆ นอกจากนี้ ยังติดตามผลการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เนื่องจากโรคไข้เลือดออก (Dengue fever) เป็นโรคที่สร้างปัญหาทางสาธารณสุขมาก และในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงถึง 50,000-100,000 คน เสียชีวิตปีละ 50-150 คน ส่วนมากเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี และมีการระบาดของโรคทุกปี ทั้งนี้ ไข้เลือดออกพบมากในเอเชียและแถบละตินอเมริกา ยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะต่อโรคนี้ ดังนั้น การพัฒนาวัคซีนจึงเป็นความหวังของโลก

พญ.อรุณีกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกในประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ศึกษาในเด็กนักเรียนในโรงเรียน 27 แห่งของ จ.ราชบุรี 4,002 คน อายุตั้งแต่ 4-11 ปี ศึกษาตั้งแต่ปี 2552-2555

"สาเหตุที่เลือก จ.ราชบุรี เนื่องจากเป็น จังหวัดที่อยู่อันดับต้นๆ ที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือด ออกมากสุด ผลการศึกษาพบว่า วัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกจากการติดเชื้อ ไวรัสเดงกี่ได้ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ที่ 1 ป้องกันได้ร้อยละ 61.2 สายพันธุ์ที่ 3 ป้องกันได้ ร้อยละ 81.9 สายพันธุ์ที่ 4 ป้องกันได้ร้อยละ 90 ส่วนสายพันธุ์ที่ 2 ที่ป้องกันไม่ได้นั้น ขณะนี้ทีมวิจัย อยู่ระหว่างการศึกษาและปรับแก้สูตรต่อไป ล่าสุด ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการพิมพ์ในวารสาร The Lancet ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำทางการแพทย์" ศ.เกียรติคุณ พญ.อรุณีกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 13 ธันวาคม 2555