ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยวิชาชีพแพทย์ไม่เอื้อต่อการลงมือฆ่า ทุกอย่างมาจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเป็นแรงขับ หากบุคลิกภาพต่อต้านสังคม เสพยา วิกลจริต ย่อมเสี่ยงสูง

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความรุนแรงในสังคมที่บางครั้งจะพบแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้อง จนเกิดคำถามว่าวิชาชีพนี้มีแนวโน้มสร้างความรุนแรงกว่าอาชีพอื่นหรือไม่ ว่าจากหลักฐานทางวิชาการไม่พบว่าแพทย์จะมีแนวโน้มเป็นฆาตกรมากกว่าอาชีพอื่น เนื่องจากแนวโน้มของการเป็นฆาตกรไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาชีพใด แต่ขึ้นกับปัจจัย ทั้งภายนอกและภายใน โดยปัจจัยภายนอก คือ โอกาสและสถานการณ์ต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงมือ ส่วนปัจจัยภายในคือภายในจิตใจของบุคคล ซึ่งทางจิตวิทยาระบุว่า พฤติกรรมของบุคคลใดๆ ก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีสาเหตุมาจากแรงจูงใจ หรือแรงผลักดันภายใน ซึ่งอยู่ในระดับจิตสำนึก หรือจิตใต้สำนึกก็ได้ ไม่มีการกระทำอะไรที่ไม่มีคำอธิบายทางจิตวิทยา โดยถ้าตั้งใจ เรียกว่าจิตสำนึก คือ รู้ตัว ถ้าไม่ตั้งใจแต่มีความต้องการอยู่ภายในที่อาจจะไม่รู้ เรียกว่าจิตใต้สำนึก โดยทั่วไปแรงขับดันให้ทำอะไรได้จะประกอบด้วยกันทั้งจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก ซึ่งไม่เกี่ยวกับ อาชีพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่หมออยู่กับการเจ็บป่วยและความตาย มุมมองของเรื่องนี้จึงมองเป็นปกติหรือไม่ เช่น หมอฆ่าหั่นศพภรรยา นพ.วชิระกล่าวว่า ก่อนอื่นอาจแบ่งฆาตกรออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 1.Serial Killer คือฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งทำการฆาตกรรมบ่อยๆ ฆ่าแล้วฆ่าอีก ฆ่าเพราะว่าอยากฆ่า โดยที่ไม่ได้มีความโกรธแค้น และ 2.ฆาตกรตามปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุหลากหลายประการ อาทิ ความโกรธแค้นส่วนตัว และรวมทั้งความพลั้งเผลอ การไม่ได้ตั้งใจที่จะทำการฆาตกรรม กรณีฆาตกรต่อเนื่องนั้น พบว่าในต่างประเทศยังมีการถกเถียงว่า บุคลากรทางการแพทย์จะมีแนวโน้มเป็นฆาตกรต่อเนื่องเพิ่มขึ้นกว่าคนทั่วไปหรือไม่ กลุ่มที่สนับสนุนเชื่อว่าการที่บุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวข้องอยู่กับการเจ็บป่วยและความตายตลอด อาจจะมีความเห็นเรื่องการตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่กลุ่มที่คัดค้านยังเชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นฆาตกรนั้นน่าจะต้องมีปัญหาทางจิตร่วมด้วย

"หากพวกเขามีบุคลิกภาพพื้นฐานที่ต่อต้านสังคม จะทำให้เขาบกพร่องเรื่องคุณธรรม และไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น หรือถ้าบุคลิกภาพดี ไม่มีอะไรเสียหายแต่เขาเสพยา ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทำความผิดได้ รวมทั้งกรณีเจ็บป่วยทางจิต มีความผิดปกติทางความคิด หวาดระแวง เช่น ได้ยินเสียงแว่ว เห็นภาพหลอน ส่วนกรณีฆาตกรตามปกติ เมื่อถามว่าทำไมเดี๋ยวนี้หมอเป็นฆาตกรกันบ่อย จริงๆ ไม่ได้บ่อย เพราะช่วงสิบปีที่ผ่านมาพบหมอไทยเป็นฆาตกรไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำ ดังนั้น อาชีพจึงไม่เกี่ยวข้องกัน" นพ.วชิระกล่าว

--มติชน ฉบับวันที่ 18 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--