ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั้งหมด 64 ล้านคน มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่ประมาณ 6 ล้าน 3 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10

เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกันแล้ว ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยที่สุด!

คาดกันว่าอีกไม่เกิน 10 ปี ประเทศไทยจะกลายเป็น "สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์" เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มสูงถึงร้อยละ 14

และต่อจากนั้นอีกไม่เกิน 10 ปี ประเทศไทยจะกลายเป็น "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด" โดยประมาณการกันว่าในปี 2575 ประเทศไทยจะมีประชากร 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 20

นั่นหมายความว่าเราจำเป็นต้องเตรียมการรับมือสังคมผู้สูงอายุกันอย่างจริงจังสักที เพราะเมื่อประชากรโดยรวมมีอายุสูงขึ้น ความต้องการด้านสวัสดิการต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล สถานที่พักอาศัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่างๆ

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุแบบครบวงจรนั้นเริ่มตั้งแต่ก้าวสู่ช่วงวัยของการเป็นผู้สูงอายุที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไปจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ที่แต่ละช่วงวัยก็มีความต้องการในการดูแลที่แตกต่างกันไปทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ

สำหรับประเทศไทยสถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงยังขาดพัฒนาการที่เป็นระบบ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับการขยายตัวของวัฒนธรรมครอบครัวเดี่ยว ที่สมาชิกในครอบครัวต่างมีภาระงาน ไม่มีความพร้อมในการให้การดูแลผู้ป่วย และผู้สูงอายุ ทำให้เกิดปัญหาขาดผู้ดูแล

ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็มีปัญหาอัตราการครองเตียงสูงไม่สามารถจะดูแลผู้ป่วยในลักษณะของการบริบาลระยะท้ายได้ การเตรียมความพร้อมบุคลากรดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดยเชื่อมโยงกับระบบบริการปฐมภูมินั้นจะมีส่วนสำคัญในการดูแล รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายจึงมีความจำเป็น

อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวย้ำว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเข้มแข็งในทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข รวมถึงศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่จะรองรับสังคมสูงวัยในอนาคต ความพร้อมในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุและการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งต้องคำนึงถึงการบูรณาการความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เข้าด้วยกัน อาทิ การพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการออกกำลังกาย ดนตรีบำบัด การพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ฯลฯ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเกิดการทำงานที่เป็นความร่วมมืออย่างเป็นสหสาขา ระหว่างคณะ สถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

เพื่อร่วมสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ได้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินเพื่อก่อสร้างศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้าย ณ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจำนวน 100 ไร่ เป็นที่มาของโครงการจัดสร้าง "ศูนย์พัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจร และบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย"

นอกจากนี้ คุณจุน วนวิทย์ ได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติมให้อีกจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งสมทบทุนร่วมก่อสร้างกลุ่มอาคารวิจัยและฝึกอบรม ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล

วัตถุประสงค์หลักของศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายมหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประธานร่วมคณะทำงานศูนย์การดูแลผู้สูงอายุและศูนย์การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าเป็นไปใน 2 ลักษณะคือ

1.เพื่อการพัฒนาการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุอย่างครบวงจร ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยชราจนถึงระยะท้ายของชีวิต ที่สามารถเป็นต้นแบบสำหรับการจัดตั้งการให้บริการได้ทั่วประเทศ ทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เกิดการเรียนการสอนในด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และ 2.เพื่อเป็นแหล่งสร้างงานวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตั้งแต่เข้าสู่วัยชราจนถึงระยะท้ายของชีวิต ดังที่มหาวิทยาลัยมีภารกิจหลักที่จะเป็น "มหาวิทยาลัยวิจัย" ชั้นนำของประเทศ

ในส่วนแผนการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประธานร่วมคณะทำงานศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า แนวทางการบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจร และบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย มหาวิทยาลัยมหิดล จะดำเนินกิจการโดยไม่เน้นการแสวงหาผลกำไร แต่ยังคงยึดหลักความยั่งยืนและการพึ่งตนเองเป็นสำคัญ  

ทั้งนี้ องค์ประกอบหลักของโครงการประกอบไปด้วย 1.ศูนย์การดูแลผู้สูงอายุ 2.ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ 3.ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุแบบครบวงจร 4.สถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย สำหรับการเยียวยาความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักทั้งก่อนและหลังความตาย 5.ศูนย์การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร 6.ศูนย์การศึกษาและวิจัย และ 7.หน่วยสนับสนุนอื่นๆ

กลุ่มเป้าหมายประกอบไปด้วย ผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายที่มารับบริการที่โรงพยาบาลในสังกัดของมหาวิทยาลัยมหิดล หรือชุมชนใกล้เคียง โดยจะมีการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนใกล้เคียงได้เข้ามาร่วมฝึกอบรมหรือเป็นอาสาสมัครในการดูแลผู้ป่วย โครงการได้ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยมหิดลให้ดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2555 โดยมีกำหนดเริ่มก่อสร้างในปี 2556 และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จจนสามารถเปิดทำการได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2559

เพื่อให้ศูนย์แห่งนี้จะเป็นต้นแบบทางความคิดในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้าย ที่มีการทำงานโดยการร่วมมือกันสร้างเครือข่ายและระบบการดูแลผู้สูงอายุขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งสร้างกระบวนทัศน์ที่ว่า ความสูงอายุ ความชรา และความตาย ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของชีวิต

เป็นการตอบโจทย์แห่งเป้าหมาย คือ ความชราอย่างมีคุณภาพ ความตายอย่างมีคุณภาพ และไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่เบื้องหลัง

--มติชน ฉบับวันที่ 18 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--